25 เมษายน 2554

คุณลักษณะไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot Review - Part Three: Cards

บทความช่วงที่สามของ Review ชุดไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot พร้อมคู่มือไพ่ เจาะเนื้อหาในส่วนคุณลักษณะของตัวสำรับไพ่

บทความรีวิวไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ช่วงอื่นๆ ได้แก่

คลิกเพื่อสั่งซื้อไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot จากเว็บ Book Depository (ส่งฟรีจากต่างประเทศ)

ลักษณะภายนอกไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot Cards

ด้านหน้าไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot
  • สัดส่วนไพ่ บางท่านที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นของไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ชุดนี้ ว่าถูกวาดโดยคุณ Will Worthington และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Connections Book Publishing อาจนึกถึงสำรับไพ่ทาโรต์ Druidcraft Tarot ที่จัดพิมพ์โดยเครือสำนักพิมพ์ดังกล่าว และเกรงว่าไพ่ทาโรต์ชุดนี้จะมีขนาดใหญ่เกินกว่าไพ่ทาโรต์มาตรฐานปกติทั่วไป จนจับใช้งานไพ่ไม่ค่อยถนัด หรืออาจอยากให้ไพ่ใหญ่ๆ หน้าตาจุใจเหมือนสำรับไพ่ทาโรต์ชุดดังกล่าว .. ผลปรากฏว่าไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot มีขนาดค่อนข้างตามมาตรฐานไพ่ทาโรต์ปกติทั่วไป โดยมีสัดส่วนกว้างคูณยาวประมาณ 7.5 x 12.1 เซนติเมตร และความหนาทั้งสำรับ 78 ใบคือ 2.8 เซนติเมตร
  • คุณภาพงานพิมพ์ภาพหน้าไพ่ ภาพคมชัด สีสันสดใสจัดจ้านได้ใจในไพ่หลายๆใบ โปรดสังเกตได้จากรูปหน้าไพ่เมเจอร์ The Sun of Life ที่แนบ
  • กรอบภาพด้านหน้าไพ่ เป็นสีขาวล้วน ไม่หนาเกินไป ไม่มีลายเส้นตัดกรอบ สวยดีครับ ;)
กับด้านหลังไพ่สีเขียวเข้มเรียบ
ของไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot
  • ด้านหลังไพ่ ขออภัยที่ต้องกล่าวว่า จืดสนิทครับ -_-" แต่หากมองมุมกลับ พื้นหลังที่เรียบแบบนี้ ก็ถือเป็นข้อดีไปอีกอย่าง เพราะทำให้ความสนใจไปเพ่งเล็งอยู่ที่ภาพด้านหน้าไพ่แทน :P โดยออกมาในรูปแบบเดียวกันกับสำรับไพ่ทาโรต์ Druidcraft Tarot เพียงแต่เปลี่ยนจากสีน้ำตาลล้วน กลายเป็นสีเขียวเข้มเรียบล้วนแทน (แต่สีเขียวสม่ำเสมอกันทุกใบครับ ไม่เหมือน Druidcraft รุ่นก่อนบางรุ่น) และไม่มีลวดลายใดๆ มีเพียงเส้นกรอบขาวเดินรอบ พร้อมลวดลายเล็กน้อยที่มุมกรอบ โดยมีตัวหนังสือระบุลิขสิทธิ์ "COPYRIGHT © WILL WORTHINGTON 2011" พิมพ์ตามแนวตั้งขนานเส้นกรอบสีขาวทางด้านนอก ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของไพ่ ทำให้ด้านหลังไพ่สามารถกลับบนล่างได้ ไม่เป็นปัญหาใดๆ (แม้ว่าตามในหนังสือคู่มือไพ่ที่รีวิวในบทความก่อน ไม่มีเนื้อหาอธิบายความหมายไพ่กลับหัวใดๆ)
ขอบไพ่ Wildwood Tarot
ที่ถลอกขาวเล็กๆตลอดทั้งสำรับ
และสันนูนรอบๆจากการตัดขอบไพ่
  • ตัดขอบไพ่ มุมไพ่ตัดโค้งมน ขอบไพ่ตัดเรียบเสมอกันตลอดสำรับ แต่จะรู้สึกสากๆถึงความเป็นกระดาษเวลาจับขอบไพ่ และหากพลิกด้านหลังไพ่ จะเห็นขอบลอกๆหลายๆใบเหมือนไพ่ถูกใช้งานมาแล้ว และหากค่อยๆลูบด้านหลังไพ่บริเวณขอบๆจะมีสันนูนจากการตัดไพ่บ้างเล็กน้อยในบางใบ ตรงนี้จะคล้ายๆไพ่จากสำนักพิมพ์ Lo Scarabeo หรือ Llewellyn ที่จะเป็นสันขอบไพ่ที่ตัดและถลอกบริเวณขอบไพ่ โดยเฉพาะกับสำรับที่หลังไพ่เป็นสีเข้ม ..เพียงแต่ว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆดังกล่าวจะถลอกหลังเริ่มใช้งาน ส่วนของ Connections เจ้านี้นี่ลอกตั้งแต่ยังไม่ได้ใช้ครับ -_-" (แต่บางคนอาจชอบก็ได้ เพราะไม่ต้องกังวลให้วุ่นวาย แถมดูขลังนิดๆ ราวกับว่าสำรับไพ่ทาโรต์ชุดนี้ผ่านประสบการณ์การใช้งานมาแล้ว)
  • การเคลือบหน้าไพ่ ค่อนข้างแตกต่างจาก Druidcraft Tarot สำรับไพ่ทาโรต์รุ่นก่อนๆ ของสำนักพิมพ์เดียวกันนิดนึง ตรงที่ว่าด้านหลังจะคล้ายกันตรงที่ไม่ค่อยเคลือบ ส่วนด้านหน้าไพ่จะเคลือบมันกำลังดี ผิวลื่นเล็กน้อยพอๆกับสำรับไพ่ทาโรต์จากสำนักพิมพ์เจ้าประจำอื่นๆ เช่น Lo Scarabeo หรือ Llewellyn รุ่นหลัง ไม่ได้ถึงขั้นลื่นมากเหมือนไพ่ AGMuller หรือ Llewellyn รุ่นแรกๆ
คลี่ไพ่พอได้ แต่ไม่เสมอกันนัก
  • การคลี่ไพ่ ทว่าด้วยพื้นผิวไพ่ดังกล่าว ที่สากไม่ได้เคลือบทางด้านหลังไพ่ และแบบลื่นเล็กน้อยทางด้านหน้าไพ่ ทำให้โดยรวมแล้วกลายเป็นว่า การคลี่ไพ่ทำได้ค่อนข้างติดขัดเป็นบางจังหวะ ไม่ลื่นไหลสม่ำเสมอกันนัก
  • การกรีดไพ่ ด้วยขนาดสัดส่วนของไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ที่ตามมาตรฐานไพ่ทาโรต์ปกติทั่วไป และเนื้อกระดาษไพ่พอมีความหยุ่นตัวบ้างเล็กน้อย ทำให้การกรีดไพ่อยู่ในระดับพอทำได้ เพราะด้วยความรู้สึกแบบเป็นเนื้อกระดาษโดยเฉพาะส่วนขอบไพ่ ทำให้ขณะที่ระไพ่ในขณะกรีดไพ่ทำได้ไม่ไหลลื่นนัก แต่ที่สำคัญกว่าคือด้วยความแข็งแบบกระดาษของไพ่ Wildwood Tarot ชุดนี้ ทำให้ไพ่อาจหักหรืองอขณะกรีดไพ่ได้ ดังนั้นแนะนำให้สับไพ่แบบปกติโดยไม่ต้องกรีดไพ่จะดีกว่า (บทความ การใช้ภาษาไทย อังกฤษ คำศัพท์ กรีดไพ่ คลี่ไพ่ สับไพ่)
  • สับไพ่นั้นทำได้ดีให้ความรู้สึกพอดีๆ เสียงเพราะใช้ได้ ^_^ เนื่องจากตัวไพ่ไม่ได้เคลือบมันหนาๆ จึงไม่ค่อยเกิดปัญหาไพ่ติดกันจากไฟฟ้าสถิตย์ในขณะสับไพ่ แต่หากจะติดกันก็เพราะจากสันขอบไพ่ที่นูนจากการตัดขอบดังระบุข้างต้น


ภาพหน้าไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot

ไพ่ทาโรต์ชุดเมเจอร์ Major Arcana
ถ่ายแบบเปิดแฟลช เห็นสีสันกันชัดๆ
กรอบด้านหน้าไพ่เป็นสีขาว ไม่มีลายเส้นตัดกรอบ ภาพสีสันสดใส โดยลายเส้นภาพแม้จะยังคงความสไตล์ภาพของคุณ Will Worthington แต่ด้วยเทคนิคที่ใช้ในงานภาพที่แตกต่าง จึงอาจทำให้ดูแตกต่างไปจากงานเดิมในสำรับไพ่ทาโรต์และไพ่ออราเคิลก่อนหน้านี้ของคุณ Will ที่ใช้เทคนิคการวาดแบบ egg tempera

ไพ่ทาโรต์ Major Arcana

ระบุหมายเลขลำดับไพ่ด้วยตัวเลขอาราบิค (Arabic numeral) และชื่อไพ่เมเจอร์ โดยชื่อไพ่ถูกปรับเปลี่ยนจากระบบมาตรฐานไพ่ทาโรต์ไรเดอร์เวทสมิธ (Rider-Waite-Smith Tarot) และระบบไพ่ทาโรต์ธ็อธ (Crowley's Thoth Tarot) ที่คุ้นเคยกัน เช่น ไพ่เมเจอร์ลำดับที่ 13 ไพ่ Death ถูกปรับชื่อเรียกเป็นไพ่ The Journey เป็นต้น

และตามที่ระบุในช่วงแรก ไพ่ Justice เป็นตำแหน่ง 8 และไพ่ Strength เป็นตำแหน่ง 11 โดยมีชื่อเรียกต่างไปจากเดิมเช่นกัน คือ The Stag และ The Woodward ตามลำดับ


ไพ่ทาโรต์ Minor Arcana

ประกอบด้วยไพ่ Minor Cards ทั้งสี่ชุดตามมาตรฐานไพ่ทาโรต์ และยังคงอิงตามระบบธาตุทั่วไป แต่ปรับชื่อเรียกให้แตกต่างไป
  • ไพ่ชุดถ้วย Cups/Chalices ปรับเป็น Vessels ธาตุน้ำ
  • ไพ่ชุดดาบ Swords ปรับเป็น Arrows ธาตุลม
  • ไพ่ชุดไม้ Wands/Batons ปรับเป็น Bows ธาตุไฟ
  • ไพ่ชุดเหรียญ Pentacles/Disks/Coins ปรับเป็น Stones ธาตุดิน

โดยเลขลำดับไพ่และชื่อไพ่ถูกระบุเป็นภาษาอังกฤษ ตามด้วยคำสำคัญ Keyword ระบุเนื้อหาความหมายของไพ่ทาโรต์ Minor Card ใบดังกล่าว เช่น Eight of Arrows ต่อด้วยคีย์เวิร์ดคำว่า Struggle หรือ Three of Vessels ต่อด้วยคำว่า Joy เป็นต้น
ไพ่ไมเนอร์ชุด Arrows และ Stones
(ไพ่ชุดดาบและไพ่ชุดเหรียญ)
ไพ่ไมเนอร์ชุด Bows และ Vessels
(ไพ่ชุดไม้เท้าและไพ่ชุดถ้วย)


ไพ่ทาโรต์ Court Cards

ตัวอย่างไพ่ Court Cards
(ตอนถ่ายรูป แสงหมดพอดี -_-")
เราคงจะเรียกไพ่ทาโรต์ Court Cards ของสำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ชุดนี้ ในภาษาไทยว่า "ไพ่บุคคล" หรือ "ไพ่ราชสำนัก" เหมือนสำรับไพ่ทาโรต์ชุดอื่นๆไม่ได้ ทั้งนี้เพราะไม่มี "บุคคล" ในสำรับไพ่ดังกล่าว เพราะไพ่ทาโรต์ Court Cards ทั้ง 16 ใบ ล้วนถูกปรับเปลี่ยนเป็นสัตว์ป่าหลากสายพันธุ์ตามเนื้อหาไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot โดยเชื่อมโยงบุคลิกลักษณะของสัตว์แต่ละสายพันธุ์(จากทางฝั่งยุโรปอังกฤษ) กับบุคลิกท่าทางนิสัยใจคอของบุคคลใน Court Cards เหล่านั้น แถมยังโยงเข้ากับฤดูกาลทั้งสี่ได้อย่างลงตัว ยกตัวอย่างเช่น

ไพ่ราชินีถ้วย (Queen of Vessels)

  • โยงกับ ปลาซัลมอน Salmon อันสื่อถึงจิตใจที่ทุ่มเทเสียสละ โดยภาพหน้าไพ่เป็นช่วงการเดินทางว่ายทวนน้ำและกระโจนข้ามน้ำตก เป็นระยะทางหลายพันไมล์ เพื่อวางไข่ดำรงเผ่าพันธุ์ (และภายหลังการวางไข่ จะมีเพียงไม่ถึง 5% ที่รอดกลับไปสู่ทะเล เนื่องจากหมดแรงจากการอุ้มท้องวางไข่และว่ายน้ำ)
  • โดยช่วงดังกล่าวเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง อันตรงกับระบบของไพ่ชุดถ้วยตามไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ชุดนี้ด้วยเช่นกัน
  • แถมยังมีความคล้ายกันของศัพท์ที่คุ้นกันในไพ่ทาโรต์และแถบยุโรปอังกฤษ กับ ศัพท์ที่เรียกปลาซัลมอนที่วางไข่แล้วว่า Kelts หรือ Celts อีกด้วย

ส่วนชื่อไพ่ทาโรต์ของกลุ่ม Court Cards จะระบุเป็น King, Queen, Knight และ Page ตามมาตรฐานปกติ โดยจะมีการระบุชื่อเรียกสัตว์ตามภาพหน้าไพ่นั้นๆ ตามหลังมาด้วย เช่น Queen of Stones * Bear เป็นต้น


เดี๋ยวเรามาต่อของแถมท้ายกันอีกนิดนึงสั้นๆ ก่อนจะสรุปรีวิวไพ่ทาโรต์ชุดนี้ กับโครงสร้าง ความคล้ายคลึง และความแตกต่างระหว่างไพ่ทาโรต์ Greenwood Tarot และ Wildwood Tarot พร้อมข้อมูลน่าสนใจเพิ่มเติมกันนะครับ ;)

6 ความเห็น:

Peterito กล่าวว่า...

เรื่องขุยตรงขอบนี่ไม่เป็นปัญหาครับ ขอบใจเกือบทุกอย่างจะตินิดเดียวคือ ข้างหลังโล้นไปหน่อยครับ หรือถ้าไม่มีอะไรเลย ก็ไม่น่ามีตัวภาษาอังกฤษด้วย เวลาคลี่ออกแล้วแล้วดูไม่สวยเท่าไร....เลยพยายามไม่ดูข้างหลัง ดูหน้าไพ่สวยๆดีกว่าครับ

ไพ่16 ใบรูปสัตว์ผมว่าสวยดีนะครับแปลกไปอีกแบบนึง ยิ่งอ่านที่คุณ HE ยกตัวอย่างมาให้ดูยิ่งเข้าใจครับ ไม่รู้ว่าถ้าเอาความหมายของ Druid Animal oracle มาผสมลงไปด้วยจะใช้ได้หรือปล่าวยังไม่รู้นะครับ

แต่โดยรวมถูกใจมากครับ แต่ยังให้เขาพักอยู่ในกล่องไปก่อนสักพักครับ..

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ตกลงคุณภาพกระดาษไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ชุดนี้ ดีกว่าชุด Druidcraft Tarot ที่คุณ Peterito มีอยู่รึเปล่าครับ เพราะเท่าที่เคยจับๆก็รู้สึกคล้ายกันอยู่ (ผมไม่ได้มี Druidcraft อยู่ในขณะนี้น่ะครับ) เพียงแต่รู้สึกว่า Wildwood Tarot ค่อนข้างทำผิวด้านหน้าไพ่ได้ดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าคิดไปเองรึเปล่า

ส่วนเรื่องไพ่ออราเคิล Druid Animal Oracle นี่คงต้องรอคุณ Peterito ทดสอบดูล่ะครับ เพราะไพ่ออราเคิลชุดดังกล่าวผมก็ไม่มีซะด้วย

รอติดตามข้อมูลช่วงสุดท้ายของบทความไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot น่าจะชอบครับ ;)

Peterito กล่าวว่า...

คุณภาพของไพ่ทั้งสองสำรับไกล้เคียงกันครับ แต่ Druid Craft จะุ่นุ่มกว่าครับ

"COPYRIGHT © WILL WORTHINGTON 2011" ของ Druid Craft จะเขียนไว้ที่หัวท้าย ทำให้เวลากรีดสายตาจะไม่ไปสดุดตรงตัวหนังสือ เหมือนกัน Wildwood(ตามรูปคุณ HE นะครับ) และ Druid Craft มีลวดลายตรงกลางเล็กน้อยพอสวยงาม

Druid Craft หน้าไพ่ดูแล้วเย็นตากว่าครับ แต่ในชุด Major กับไพ่รูปสัตว์ ของ Wildwood ก็โดดเด่นมากครับ

รออ่านบทความหน้าครับ อิอิ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลไพ่ Druidcraft และการรอติดตามอ่านบทความรีวิวไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ในช่วงสุดท้ายครับ :)

Peterito กล่าวว่า...

คุณ HE ถ้าเอาไปรีวิวในคลับกระดานชนวนด้วยก็คงดีนะครับ......

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

เกรงว่าจะเข้าข่ายโฆษณา เพราะรูปถ่ายในรีวิวไพ่เหล่านี้ทำลายน้ำเว็บบล็อกณธัชพงศ์ไพ่พยากรณ์นี้ไว้ ซึ่งจะเป็นการละเมิดกฎกติกาของพันทิปครับ จึงขอเผยแพร่หรือบอกกล่าวลิงค์บทความต่างๆไว้ เฉพาะในพื้นที่ที่อนุญาตเช่น เฟซบุ๊คทาโรต์คลับ Tarot Club หรือ เว็บบอร์ด Ztarot เป็นต้น

ส่วนที่ต้องมีลายน้ำ เพราะเคยเห็นบทความดีๆของนักทำนายบางท่าน ถูกก๊อปๆต่อๆกัน จนไม่อาจตามได้ถึงผู้เขียนคนแรก ซึ่งนอกจากจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนแล้ว บทความยังถูกปรับเปลี่ยนเพี้ยนไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม แถมเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้เพี้ยนไปคงไม่ดีเท่าไหร่นักครับ

ดังนั้นแม้จะชี้แจงไว้แล้วในหน้า "เกี่ยวกับบล็อกณธัชพงศ์ไพ่พยากรณ์" ในเรื่องการนำบทความไปใช้ แต่อย่างไรขอคุมเพิ่มได้อีกนิดก็ยังดี


ในอีกประเด็นคือ หากจะนำไปลงในคลับกระดานชนวนพันทิป ต้องนำรูปถ่ายต้นแบบมาตัดย่อใหม่ ซึ่งด้วยปัจจัยด้านเวลาและแรงงาน ผมคงไม่ทำซ้ำแล้วครับ ..อีกทั้งสมาชิกที่สนใจไพ่ทำนายในคลับกระดานชนวน ส่วนใหญ่ก็พอจะทราบถึงความมีอยู่ของเว็บบล็อกนี้แล้ว ได้แต่หวังว่าคงจะแว้บๆมาติดตามหรือทักทายกันบ้าง แค่นั้นก็ดีใจและพอใจแล้วครับ ^_^

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ผมได้นำรีวิวไพ่ออราเคิลจุดเทียนของคุณสมบูรณ์สุขที่เคยลงในบล็อกนี้ไว้ ไปลงซ้ำแบบย่ออีกทีในคลับกระดานชนวนพันทิปนั้น ด้วยหวังจะช่วยเผยแพร่และสนับสนุนผลงานคุณภาพของคนไทยเป็นหลักครับ

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น