1 มิถุนายน 2559

0 ไพ่พุทธประวัติ ไพ่สวยสไตล์ออราเคิล (Buddha History Oracle Card Deck)

สวัสดีทุกท่านครับ ห่างหายไปนานหลายปีจากเว็บบล็อก ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ แต่อันที่จริงต้องบอกว่าพักยาวหมดทุกช่องทางการสื่อสารล่ะครับ >_< ทว่าช่วงนี้ได้จังหวะจึงกลับมาบอกกล่าวเล่าขวัญถึงไพ่ทาโรต์ ไพ่เลอนอร์มองด์ และไพ่ออราเคิลสวยๆ กันต่อ โดยท่านสามารถติดตามข่าวสารหรือชมไพ่ทำนายงามๆ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ค ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ หรือทางอินสตาแกรม ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ นะครับ
ผลงานพุทธศิลป์แนวดิจิทัลอาร์ตที่ใครต่อใครต่างตะลึง โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์
แม้จะเรื้อร้างไปนานกับการรีวิวไพ่ แต่งวดนี้ต้องบอกเลยว่าด้วยความงามของสำรับไพ่แนวออราเคิลชุดที่เพิ่งได้มาล่าสุด ซึ่งคุณหมอเข็ม ร้านบ้านยิปซี ได้กรุณามอบให้เป็นของขวัญเมื่อช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา (ต้องขอขอบคุณด้วยนะครับ _/|\_) จึงอดใจไม่ไหว ขอมาแนะนำไพ่สวยทรงคุณค่าสำรับนี้ ในเว็บบล็อก ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กันซักนิด ติดตามชมกันได้เลยครับผม ;)

บทความที่เกี่ยวข้อง
  • อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (Marvel of Teaching) ดร.เซ่ ปรับแก้ความเข้าใจผิดในศาสตร์พยากรณ์ ความเข้าใจผิดในวิชชาที่ขวางต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน (ติรัจฉานวิชา) และปาฏิหาริย์ในพุทธศาสนา
  • Tarot Roots of Asia (Thai Edition) แนะนำไพ่ทาโรต์ เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เวอร์ชั่นไทย พิมพ์ใหม่ล่าสุด
  • Tarot Roots of Asia (AGMuller Edition) แนะนำไพ่ทาโรต์รูทส์ออฟเอเชีย ไพ่ทาโรต์วิถีพุทธ


ที่มาของไพ่พุทธประวัติ (Buddha History: Art Souvenir Card)


ไพ่พุทธประวัติ หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Buddha History: Art Souvenir Card ซึ่งราวกับระบุเป็นนัยยะเล็กๆ ว่าเน้นความเป็นไพ่ที่ระลึก (Souvenir) กับผลงานศิลปะที่เหมาะสำหรับมอบให้กันเป็นของขวัญอันล้ำค่ายิ่ง นับเป็นธรรมทานอันสูงค่ายิ่งจากธรรมะที่แฝงอยู่ในพุทธประวัติ และเพื่อไว้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ภาพไพ่พุทธประวัติชุดนี้ เป็นการรวบรวมผลงานศิลปะของ อ.กฤษณะ สุริยกานต์ ที่ท่านได้รังสรรค์ขึ้นมาให้กับเจ้าภาพนำไปถวายตามวัดหรือธรรมสถานต่างๆ มานานนับปี รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์และนิทรรศการถาวรภาพพุทธประวัติ โดยลักษณะงานศิลป์ของท่านจะเป็นรูปแบบดิจิตอลอาร์ท (Digital Art) ที่มีความร่วมสมัย ทั้งในด้านสีสันเทคนิคตระการตา ผสานไปกับลายเส้นที่ชดช้อยอย่างกลมกลืน

แต่ก็แน่นอนครับ งานศิลป์สวยงามอลังการระดับนี้ โอกาสได้มาครอบครองหรือแม้แต่จะแค่ยลความงามนั้นไม่ใช่ง่ายๆ ทว่าได้มีความคิดที่จะรวบรวมงานพุทธศิลป์เหล่านี้จัดทำในรูปแบบไพ่ ริเริ่มโดยคุณหมอเข็ม ร้านบ้านยิปซี ที่ได้เข้าพบ อ.กฤษณะ และอธิบายความประสงค์ในการจัดทำสำรับไพ่พุทธประวัติ พร้อมกับนำเสนอผลงานตัวอย่างไพ่พยากรณ์/ไพ่ทาโรต์/ไพ่ออราเคิลอื่นๆ ในแบบต่างๆ ซึ่งทางอาจารย์เองก็เห็นว่า "หากปฏิบัติด้วยความเคารพบูชา และจัดวางสำรับไพ่ให้อยู่ในตำแหน่งสถานที่อันสมควร ก็ไม่ได้เป็นการลบหลู่แต่อย่างใด อีกทั้งยังนับว่าได้เผยแพร่พุทธประวัติได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย"

ภายในกล่องไพ่พุทธประวัติ


กล่องไพ่พุทธประวัติ (Buddha History Cards' Box)

ขนาดกล่องไพ่พุทธประวัติ (คลิกรูปเพื่อขยาย)
  • ขนาดกล่องไพ่พุทธประวัติ กว้าง 4.5 นิ้ว สูง 6 3/8 นิ้ว และหนา 1 นิ้ว (ประมาณ 11.5 x 16.0 x 2.5 เซนติเมตร)
  • สำรับไพ่ทั้งหมด ถูกบรรจุในกล่องกระดาษไพ่ แล้วสอดเข้าไปในปลอกกระดาษอาร์ตมัน โดยพิมพ์ด้านหน้าเป็นหนึ่งในภาพจากไพ่ พร้อมชื่อสำรับไพ่และศิลปิน พิมพ์ปั๊มตัวอักษรลายทองเมทัลลิคแวววาวสวยงาม ส่วนด้านหลังกล่องเป็นภาพศิลปิน อ.กฤษณะ พร้อมคำโปรยและที่อยู่ติดต่อ
สิ่งที่บรรจุภายในกล่องไพ่พุทธประวัติ

คู่มือไพ่พุทธประวัติ (ไทย - อังกฤษ)
(คลิกรูปเพื่อขยาย)

คู่มือไพ่พุทธประวัติ

  • จำนวน 80 หน้า พิมพ์บนกระดาษถนอมสายตา โดยมีขนาดสัดส่วนความกว้างความสูงของคู่มือพอๆ กับขนาดสัดส่วนไพ่
  • เนื้อหา บรรยายชื่อและเรื่องราวไพ่แต่ละใบโดยย่อๆ ตามลำดับเลขไพ่ ซึ่งแบ่งเป็นภาษาไทยในช่วงแรกของเล่ม และช่วงหลังของเล่มเป็นภาคภาษาอังกฤษ โดยสรุปเนื้อหาใจความเดียวกันกับส่วนภาษาไทย แต่ไม่ได้แปลความหมายแบบตรงกันเป๊ะๆนะครับ

สำรับไพ่พุทธประวัติ

ไพ่พุทธประวัติ ประกอบด้วยจำนวนไพ่ทั้งหมด 48 ใบ ได้แก่
  • ไพ่ปก (Cover Cards) จำนวน 2 ใบ โดยใบหนึ่งเป็นชื่อไพ่และชื่อศิลปิน และอีกใบหนึ่งเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในลักษณะคล้ายปางประทานพร ไม่มีตัวหนังสือใดๆ
  • ไพ่พุทธประวัติ จำนวน 46 ใบ ซึ่งมีชื่อของพุทธประวัติช่วงเหตุการณ์นั้นๆ พร้อมทั้งลำดับตัวเลขไทย กำกับไว้ตั้งแต่เลข ๑-๔๖
สัดส่วนไพ่พุทธประวัติ ไพ่ใบปิดหน้า และลวดลายด้านหลังไพ่
  • ขนาดไพ่พุทธประวัติ (Buddha History Card Size) สัดส่วน 3.5 x 5.5 นิ้ว หรือประมาณ 9 x 14 เซนติเมตร คือเรียกได้ว่าเต็มไม้เต็มมือดีครับ ทำให้ได้เห็นภาพสวยๆ เต็มตา แต่ด้วยจำนวนไพ่เพียง 46 ใบ จึงไม่หนาจนล้นมือจนเกินไปนัก (สำรับไพ่มีความหนาประมาณ 2 เซนติเมตร)
  • ด้านหลังไพ่พุทธประวัติ เป็นลวดลายไทยลักษณะคล้ายธรรมจักร/ดอกบัว พิมพ์สีน้ำตาลทอง บนพื้นสีขาว
  • ลักษณะการจัดวางภาพและเนื้อหาภาพไพ่พุทธประวัติ
    • ไพ่พุทธประวัติลำดับที่ 1-34 จะเป็นภาพไพ่เต็มใบ ไม่มีกรอบภาพ จัดวางภาพในแนวตั้ง (Portrait) จะเป็นภาพที่อิงตามพุทธประวัติช่วงหลักๆ ที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกันดี
การจัดวางภาพของไพ่พุทธประวัติ มีทั้งภาพแนวตั้งและแนวนอน
    • ไพ่พุทธประวัติลำดับที่ 35-46 จะอิงตามบทสวดพระปริตร 12 ตำนาน ดังนั้นจึงจะมีช่วงที่ไม่ใช่พุทธประวัติโดยตรง คือจะเป็นชาดกบ้าง (อดีตชาติของพระพุทธเจ้า เช่น โมรปริตร นกยูงทองเจริญพระปริตร อรรถกถาโมรชาดก) หรือพุทธสาวกสำคัญๆบ้าง (เช่น พระองคุลิมาล จากอังคุลิมาลสูตร ที่เชื่อกันว่าสวดพระปริตรบทนี้แล้ว จะช่วยให้คลอดบุตรง่าย อรรถกถาอังคุลิมาลสูตร) โดยจะจัดวางภาพในแนวนอน (Landscape) และมีแถบกรอบสีดำด้านบนและล่างของภาพ ซึ่งเมื่อนำไพ่มาจัดวางร่วมกัน ก็ได้มุมมองที่แปลกแตกต่างไปอีกแบบครับ
  • การเคลือบไพ่พุทธประวัติ จะเคลือบมันทั้งสองด้าน จึงหนืดๆ บ้างเล็กน้อยขณะคลี่ไพ่ คล้ายพวกโปสการ์ดหรือสำรับไพ่ออราเคิลต่างประเทศของบางสำนักพิมพ์ ซึ่งแม้ไม่ได้ไหลลื่นแบบไพ่ทาโรต์ต่างประเทศรุ่นเก่าๆ บางสำรับ แต่ข้อดีคือทำให้ไพ่พุทธประวัตินี้ค่อนข้างทนทาน ไพ่ไม่ถลอกปอกเปิกได้ง่าย แถมยังช่วยขับสีสันงานศิลป์ไพ่ซึ่งเป็นแนวดิจิตอลอาร์ต ให้มีความคมชัด ดูมันๆ เลื่อมๆ มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
Gilded Tarot Royale
โดย Ciro Marchetti
  • ดิจิตอลอาร์ต (Digital Art) หากใครคุ้นเคยกับไพ่ทาโรต์แนวแฟนตาซีเหนือจินตนาการ (Fantasy) ผสมกับการวาดภาพแบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิค (Computer Graphic / Digital Art) ทำนองนี้ น่าจะคุ้นเคยกับงานศิลป์ภายในไพ่ที่คล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น ไพ่ทาโรต์ Gilded Tarot และ Legacy of the Divine Tarot ของคุณ Ciro Marchetti, ไพ่ทาโรต์อิลลูมินาติ (Tarot Illuminati) และไพ่ทาโรต์อะโพคาลิพซิส (Tarot Apokalypsis) ของคุณ Erik Dunne, หรือไพ่ทาโรต์ Deviant Moon Tarot ของคุณ Patrick Valenza เป็นต้น ซึ่งล้วนต่างก็เป็นสำรับไพ่ทาโรต์ที่ได้รับความนิยมกันทั่วโลก ส่วนสำรับไพ่พุทธประวัติชุดนี้ ต้องขอชมเลยว่าทั้งเทคนิคและความอลังการของงานศิลป์นับว่าไม่ด้อยกว่ากันเลย ยิ่งบวกความอ่อนช้อยของศิลปะไทยเข้าไป กับธรรมะและความหมายที่แฝงในแต่ละเส้นสายลายศิลป์ด้วยแล้ว ยิ่งน่าไขว่คว้าหาผลงานของศิลปินไทยท่านนี้มาครอบครองยิ่งนัก



ภาพบรมสาทิสลักษณ์เฉพาะพระพักตร์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า

  • ภาพพิมพ์สีคล้ายโปสการ์ด บรรจุภายในกรอบภาพสวยงาม ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้มาด้วยพร้อมกันภายในกล่องพัสดุ แยกต่างหากกับกล่องไพ่และคู่มือ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเฉพาะผู้ที่สั่งสำรับไพ่ในรุ่นพิมพ์แรกๆ รึเปล่านะครับ อาจต้องลองสอบถามกับทางผู้ผลิตโดยตรง

แนะนำการพยากรณ์ด้วยไพ่พุทธประวัติ

สำหรับผม ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ โดยส่วนตัวมองว่า การน้อมนำไพ่พุทธประวัติมาประยุกต์กับการพยากรณ์นี้ เป็นเสมือนการให้คำแนะนำคำสั่งสอนต่างๆ โดยอิงกับพุทธประวัติ และพุทธธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (คล้ายดังสำรับไพ่ออราเคิลต่างประเทศ ที่อิงกับเหล่าเทวดา เทวทูต คำสอนตามหลักศาสนา ฯลฯ) ซึ่งผู้ที่เข้าใจศาสตร์ไพ่พยากรณ์ในระดับหนึ่งจะทราบดีว่า การใช้ไพ่พยากรณ์ในลักษณะดังกล่าว จะไม่ใช่เป็นการใช้เพื่อเน้นทำนายอนาคตหรือดูดวงทั่วไปแต่อย่างใด

กรณีดังกล่าวจะคล้ายคลึงกับ ไพ่เซียมซีพุทธ (Tarot Roots of Asia) โดย (พระ) อาจารย์อำนาจ และอาจารย์ถาวร ซึ่งผมได้กล่าวถึงในบทความ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (Marvel of Teaching) ที่เป็นการนำพุทธธรรมคำสอนมาปรับจัดวางสื่อออกมาในรูปแบบความหมายไพ่

อย่างไรก็ตามหากท่านใดยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจอยากให้มองในอีกแง่หนึ่งว่า หากผู้ที่เปิดไพ่ได้ยลความงามในงานพุทธศิลป์ดังกล่าว และระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เพียงเสี้ยววินาที ย่อมส่งคุณประโยชน์อันเอนกอนันต์หาประมาณมิได้ และสุดท้ายจริงๆ นั้น ย่อมอยู่ที่การวางใจให้ถูก มีสัมมาทิฏฐิ รู้จักปฏิบัติตนตามวิถีทางซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีไว้ชอบแล้วนั่นเอง
ตัวอย่างหนึ่งในการวางไพ่พุทธประวัติ 3 ใบ เพื่อชี้นำสู่ทางสว่าง สะอาด สงบ
คำเตือนนิดนึงครับว่า สำหรับไพ่พุทธประวัติสำรับนี้ ควรจะมีการศึกษาพุทธประวัติให้ถ้วนถี่ ทั้งจากคู่มือไพ่ที่มาด้วย และแหล่งความรู้อื่นๆ ตลอดจนมีการสอบทานตามพระไตรปิฎกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ในองค์ความรู้และในธรรมของผู้ใช้เอง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เราไม่หลงไปเผยแพร่ความเข้าใจที่ผิดจนส่งผลเสียต่อไปได้

ส่งท้ายบทความไพ่พุทธประวัตินี้ ผมคงต้องขอบอกว่า คุณจะมองรูปแบบการใช้ไพ่สำรับนี้เป็นเชิงพยากรณ์ศาสตร์หรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับงานพุทธศิลป์ที่สวยงามระดับนี้ ประกอบกับรูปแบบการจัดพิมพ์ไพ่และคู่มือไพ่คุณภาพเยี่ยม ในราคาชุดละไม่ถึงหนึ่งพันบาท (ณ ขณะที่บทความนี้จัดพิมพ์) สมควรอย่างยิ่งที่จะหามาเก็บไว้เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาพุทธประวัติ หรือมอบให้กันเป็นของขวัญที่ระลึกอันทรงคุณค่ายิ่งครับผม :D

ท้ายสุดนี้ขอฝากภาพพุทธศิลป์จากไพ่พุทธประวัติไว้เป็นที่ระลึกเนื่องในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา เจริญในธรรมกันทุกท่านนะครับ _/|\_ _/|\_ _/|\_
ไพ่พุทธประวัติ วิสาขบูชารำลึก (คลิกรูปเพื่อขยาย)
อ่านเพิ่มเติม »

27 ธันวาคม 2556

4 Watkins Occult Bookshop ร้านหนังสือศาสตร์เร้นลับและพยากรณ์ แห่งตรอก Cecil Court กลางกรุง London

บทความสุดท้ายส่งท้ายปี พ.ศ. 2556 และอาจเป็นบทความสุดท้ายของบล็อก ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์!!! ก่อนขอลาหยุดพักแบบไม่มีกำหนด (อาจเพียงไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี หรืออาจตลอดไป) ...ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามผลงานของ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ผ่านทางหนังสือคู่มือไพ่ เฟซบุ๊คและเว็บบล็อก รวมทั้งให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจเสมอมา หวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าคงได้มีโอกาสกลับมาพูดคุย เรื่องราวและความรู้ในศาสตร์ไพ่พยากรณ์ร่วมกับทุกท่านอีกครั้งครับ :)

ต่อเนื่องจากบทความคราวก่อนที่ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ได้พาเที่ยวตรอกเซซิลคอร์ต (Cecil Court) ณ มหานครลอนดอน ที่เป็นแรงบันดาลใจของบรรยากาศภายในตรอกไดอะกอน (Diagon Alley) จากนิยายแฟนตาซีชื่อดังของพ่อมดน้อยแฮร์รี่พอตเตอร์ (Harry Potter) แห่งโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอร์ตส (Hogwarts School of Witchcraft and Wizardry)

คราวนี้ขอต่อด้วยภาพบรรยากาศของร้านหนังสือวัตกิ้นส์ (Watkins Books) ร้านหนังสือศาสตร์เร้นลับและพยากรณ์ ที่เป็นเป้าหมายหลัก สำหรับผู้สนใจในศาสตร์เร้นลับและการพยากรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในตรอกเซซิลคอร์ตแห่งนี้
Watkins Books ร้านหนังสือศาสตร์เร้นลับและพยากรณ์
Mysticism, Occultism และ Divination ภายใต้แสงไฟยามค่ำคืน

บทความที่เกี่ยวข้อง
  • Harry Potter's Diagon Alley ดร.เซ่ พาเที่ยวตรอกไดอะกอน จากนิยายและภาพยนตร์แฮร์รี่พอตเตอร์ ในชีวิตจริง ณ กรุงลอนดอน
  • Atlantis Occult Bookshop in London แนะนำร้านหนังสือศาสตร์เร้นลับและพยากรณ์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • Lost Tarot of Nostradamus Deck Review แนะนำสำรับไพ่ทาโรต์นอสตราดามุส พร้อมหนังสือคู่มือไพ่


Watkins Books ร้านหนังสือวัตกิ้นส์

ป้ายตั้งหน้าร้านหนังสือวัตกิ้นส์
ที่ยังคงความขลังแบบดั้งเดิม
ร้านหนังสือ Watkins Books แห่งนี้ นับเป็นร้านหนังสือด้านจิตวิญญาณที่เก่าแก่ที่สุดในลอนดอน (London's oldest Mind Body Spirit Bookshop) เปิดให้บริการมาไม่น้อยกว่า 100 ปี!! เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่เดือนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1893 โดยคุณจอห์นวัตกิ้นส์ (John M. Watkins) เดิมทีร้านตั้งอยู่บริเวณถนน Charing Cross (ไม่ไกลจากที่อยู่ปัจจุบัน) ก่อนจะย้ายร้านในปี ค.ศ. 1901 มาเปิดให้บริการ ณ ตรอกเซซิลคอร์ต จวบจนทุกวันนี้

จุดหนึ่งที่ร้านหนังสือวัตกิ้นส์ Watkins Books แตกต่างจากร้านหนังสือแอตแลนติส Atlantis Occult Bookshop ที่ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ เคยพาเที่ยวชม คือตลอดช่วงเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ร้านวัตกิ้นส์ได้ถูกเปลี่ยนเจ้าของกิจการมาหลายครั้ง โดยเจ้าของปัจจุบันคือ คุณ Etan Ilfeld ที่ได้ปรับรูปแบบการดำเนินกิจการใหม่ ผนวกการใช้สื่อทางโทรทัศน์ เพื่อให้เข้ากับยุคแห่งข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น

สำหรับกลุ่มลูกค้าขาประจำของร้านที่เด่นๆ ตั้งแต่เปิดให้บริการนั้น ย่อมต้องไม่พ้น คุณอาเธอร์เวต (A.E. Waite) เจ้าของไพ่ทาโรต์ไรเดอร์เวตสมิธ (Rider-Waite-Smith Tarot) และคุณโครวลี่ (Aleister Crowley) เจ้าของไพ่ทาโรต์ธ็อธ (Thoth Tarot) ตลอดจนเหล่าผู้คลุกคลีในศาสตร์เร้นลับ ศาสตร์พยากรณ์ และศาสตร์ทางจิตวิญญาณ ที่สำคัญๆ (Occultism and Spirituality) ทั้งในอังกฤษและในต่างประเทศ ที่ต่างแวะมาเยี่ยมเยียนร้านแห่งนี้ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

หมวดหมู่หนังสือในชั้นใต้ดิน (Lower Ground Floor)
ของร้านหนังสือวัตกิ้นส์ (Watkins Books) เหล่าเทวตำนาน อียิปต์ กรีก สารพัดที่คุณต้องการ
(โปรดสังเกตลวดลายพรมในร้าน ธ็อธเทพแห่งอียิปต์ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำร้าน)

หินคริสตัล อัญมณี และเครื่องรางของขลัง
มีจำหน่ายภายในร้านหนังสือ Watkins Books ด้วย
(คลิกภาพเพื่อขยาย)
ตู้โชว์หน้าร้าน Watkins Books
ไพ่ทาโรต์ ไพ่ยิปซี หนังสือเชิงปรัชญา และ
วัตถุมงคลอายธรรมตะวันออกและตะวันตก

ร้านหนังสือ Watkins Books แห่งนี้ ยังถูกใช้เป็นศูนย์กลางกิจกรรมที่สำคัญทางศาสตร์เร้นลับและพยากรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เปิดตัวหนังสือ การพูดคุย ประชุมด้านวิชาการทางศาสตร์ทางจิตวิญญาณ ตลอดจนการให้บริการให้คำปรึกษาโดยใช้ศาสตร์ด้านพยากรณ์ไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ และพยากรณ์ทางจิตสัมผัส ควบคู่ไปด้วย (Tarot & Psychic Reading)
บรรยากาศหน้าร้านหนังสือวัตกิ้นส์ (Watkins Books)
โปรดสังเกตโต๊ะพยากรณ์ไพ่ของร้าน (ทางขวา) จะมีนักพยากรณ์หมุนเวียนมานั่งประจำ

หน้าร้านที่ปรับโฉมใหม่โดยเฉพาะ เพื่องานเปิดตัว ไพ่ทาโรต์ที่สาบสูญของนอสตราดามุส
Lost Tarot of Nostradamus ที่ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ เคยรีวิวไว้ 4 บทความ

บรรยากาศพูดคุยสบายๆ เป็นกันเอง ภายในร้านหนังสือ Watkins Books
ที่ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ เคยร่วมสัมผัสในงานเปิดตัวไพ่ทาโรต์ Lost Tarot of Nostradamus
(จากซ้ายไปขวา คุณ Will Kinghan, คุณ John Matthews และคุณ Caitlín Matthews)


วันเวลาทำการร้านวัตกิ้นส์ (Watkins Books' Opening Time)

ร้านหนังสือและพยากรณ์ Watkins Books เปิดให้บริการทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์
  • จันทร์, อังคาร, พุธ และศุกร์ : 10.30 - 18.30 น.
  • พฤหัสบดี และ เสาร์: 11:00 - 19.30 น.
  • อาทิตย์: 12:00 - 19:00 น.


สถานที่ตั้งร้านหนังสือวัตกิ้นส์ (Watkins Books' Location)

ตั้งอยู่เลขที่ 19-21 ตรอกเซซิลคอร์ต (Cecil Court) กรุงลอนดอน รหัสไปรษณีย์ WC2N 4AZ ประเทศสหราชอาณาจักร




เก็บภาพมาฝากแก่ผู้รักไพ่พยากรณ์

แน่นอนครับสุดท้ายนี้ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ย่อมไม่พลาดที่จะถ่ายภาพมุมไพ่ทาโรต์ และไพ่ออราเคิล (Tarot and Oracle Decks) ของร้านหนังสือ Watkins Books ที่มีสำรับไพ่พยากรณ์ต่างๆ ทั้งจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ และแบบพิมพ์สำรับไพ่เอง

นอกจากนี้จะสังเกตเห็นจากภาพที่แนบได้ว่า ไพ่พยากรณ์หลายสำรับ มีสำรับไพ่ตัวอย่างจัดไว้ให้ลูกค้าโดยเฉพาะ ให้สามารถแกะดูคุณภาพไพ่ จับสับไพ่ได้ตามสบายครับผม
นามบัตรร้าน Watkins
ใช้เป็นที่คั่นหนังสือได้ด้วย
ถุงผ้าลดโลกร้อน
ลวดลายเฉพาะของร้าน Watkins Books
ที่ผมซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึกครับ :)

สำรับไพ่ทาโรต์ (Tarot Card Decks) และไพ่ออราเคิล (Oracle Decks)
มุมแห่งความสงบ(?) ภายในร้าน Watkins Books สำหรับคนรักไพ่พยากรณ์ (คลิกภาพเพื่อขยาย)

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับบรรยากาศของร้านหนังสือ Watkins Books ร้านหนังสือศาสตร์เร้นลับและพยากรณ์ ที่ตั้งอยู่ในซอย Cecil Court หรือตรอกไดอะกอน (Harry Potter's Diagon Alley) ในชีวิตจริง ที่ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ได้พาเที่ยวชม ชอบไม่ชอบอย่างไร เล่าสู่กันฟังด้วยนะครับ :)
อ่านเพิ่มเติม »

13 ธันวาคม 2556

6 เที่ยวตรอกไดอะกอน พ่อมดน้อยแฮร์รี่พอตเตอร์ (Real Harry Potter's Diagon Alley, London)

Harry Potter
เรื่องราวการผจญภัยของพ่อมดแฮร์รี่พอตเตอร์
ประพันธ์โดย เจ.เค.โรวลิ่ง
ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ขอเปลี่ยนบรรยากาศ ผันตัวเองมาเป็นมัคคุเทศก์ พาเที่ยวตรอกไดอะกอน (Diagon Alley) จากนิยายพ่อมดชื่อดังก้องโลก แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ในชีวิตจริงกันบ้าง เพราะภายในตรอกไดอะกอนแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่ตั้งของร้านหนังสือศาสตร์เร้นลับและพยากรณ์ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งใจกลางมหานครลอนดอน ที่ผมมักแวะเวียนมาชมแทบทุกสัปดาห์ .. คงเริ่มงงกันแล้วล่ะซิครับว่า "ตรอกไดอะกอนมีจริงหรือ?" "แค่โรงถ่ายทำรึเปล่า?" ถ้าเช่นนั้นเรามาติดตามกันครับ :)

บทความที่เกี่ยวข้องในบล็อก ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์

พ่อมดน้อยแฮร์รี่พอตเตอร์ (Harry Potter)

Harry Potter ชื่อนี้คงแทบไม่มีท่านใดไม่รู้จัก กับซีรี่ส์นิยายแฟนตาซีอันโด่งดัง เรื่องราวการผจญภัยของพ่อมดน้อยชาวอังกฤษนามว่าแฮร์รี่พอตเตอร์ แห่งโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอร์ตส์ (Hogwarts) ประพันธ์โดย เจ.เค.โรวลิ่ง (J.K. Rowling) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้เปิดประตูแห่งจินตนาการสู่โลกของเหล่าพ่อมดแม่มด สร้างกระแสความตื่นตัวในศาสตร์เวทมนตร์ แก่เด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก โดยหนังสือถูกพิมพ์จำหน่ายติดต่อกันจำนวน 7 เล่ม ในช่วงระยะเวลาสิบปี และจำหน่ายทั่วโลกไม่น้อยกว่า 4 ร้อยล้านเล่ม แถมยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์จอเงินถึง 8 ตอน พร้อมด้วยรายได้ที่ไม่น้อยหน้ากัน



แน่นอนครับ เรื่องราวแทบทั้งหมดแต่ละตอนของหนังสือแฮร์รี่พอตเตอร์ ล้วนดำเนินไปในประเทศสหราชอาณาจักรเป็นหลัก (United Kingdom) ตลอดจนฉากต่างๆที่สร้างขึ้นใหม่ในภาพยนตร์ ล้วนได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจต่างๆ จากวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวอังกฤษจริงๆ และเรื่องราวของศาสตร์พ่อมดแม่มดต่างๆ ที่เคยมี(และยังคงมี)อยู่จริงในประเทศแถบยุโรปนี้ด้วย

แม้ว่าการถ่ายทำภาพยนตร์จะดำเนินกันภายในโรงถ่ายลีฟส์เด็น (Leavesden Studios) ที่สร้างขึ้นมาเฉพาะในเขตฮาร์ตเฟิร์ดเชียร์ (Hertfordshire) แต่ยังคงจำเป็นต้องใช้สถานที่จริงในการถ่ายทำหลายแห่ง ทั้งมหานครลอนดอน (London) เมืองอ๊อกซ์เฟิร์ด (Oxford) เมืองและปราสาทต่างๆ จากฝั่งสก็อตแลนด์ (Scotland) ฯลฯ

ไพ่ทาโรต์ Wizards Tarot
ไพ่ทาโรต์โรงเรียนเวทมนตร์ ที่ได้อิทธิพลจาก Harry Potter
กล่าวถึงในบทความแนะนำไพ่ทาโรต์ วางจำหน่ายช่วงปีก่อน


Diagon Alley in Real Life

แม้ว่าตรอกไดอะกอน (Diagon Alley) ในฉบับภาพยนตร์ของ Harry Potter ได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่แทบทั้งหมด แล้วจึงใช้คอมพิวเตอร์ตกแต่งบางส่วนที่เหลือ ประกอบการถ่ายทำนอกสถานที่บางส่วน ทว่าโครงสร้างอาคารต่างๆ ภายในตรอกไดอะกอน จากแนวคิดของคุณ เจ.เค.โรวลิ่ง และทีมออกแบบของภาพยนตร์ ย่อมไม่พ้นที่จะได้รับแรงบันดาลใจจากสถานที่จริงในอังกฤษ ซึ่งสถานที่นั้นก็คือ ตรอกเซซิลคอร์ท Cecil Court ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน นั่นเอง

ตรอกไดอะกอน (Diagon Alley) ในเรื่อง Harry Potter ฉบับภาพยนตร์


การเดินทางมายัง ตรอก Cecil Court

ป้ายทางเข้าตรอก Cecil Court
(คลิกภาพเพื่อขยาย)
วิธีการเดินทางมายัง ตรอกไดอะกอน เอ้ย ตรอกเซซิลคอร์ต ที่ง่ายที่สุด คือ
  • ขึ้นรถไฟใต้ดิน (Underground Train หรือเรียกว่า Tube) มายังสถานีเลสเตอร์สแควร์ (Leicester Square) 
  • เดินเท้าต่ออีกนิดไปตามถนน Charing Cross ไปทางหอแสดงภาพศิลป์แห่งชาติ (National Gallery) 
  • สังเกตเห็นซอยเซซิลคอร์ท (Cecil Court) ได้ไม่ยากครับ
  • ถ้ายังงงๆ เชิญคลิกชมแผนที่กูเกิ้ลด้านล่างบทความได้เลยครับ ;)

บรรยากาศร้านรวงสองข้างทางของ Cecil Court
พอจะได้อารมณ์คล้ายในภาพยนตร์ Harry Potter มั้ยครับ?

มัคคุเทศก์นำทัวร์แฮร์รี่พอตเตอร์ (Harry Potter Tours)
บรรยายความสำคัญของตรอกเซซิลคอร์ต (Cecil Court)

ภายในแผนที่กูเกิ้ล (Google Map) แสดงที่ตั้งของตรอกเซซิลคอร์ท (ระบุย่อว่า Cecil Ct)



เกร็ดเล็กน้อยของตรอกไดอะกอน (Harry Potter's Diagon Alley)

  • Alley (อัลลี่ย์) แปลว่าตรอกซอกซอย ส่วน Diagon (ไดอะกอน) เป็นชื่อเฉพาะ ของตรอกดังกล่าวในเรื่อง ... ซึ่งในฉากหนึ่งของภาคแรก ที่ Harry ต้องเดินทางผ่านเตาผิง โดยใช้ผงฟลู (Floo Powder) แต่กลับหลงทางไปผิดที่ เนื่องจากพูดชื่อสถานที่เพี้ยนติดกันเป็นคำว่า Diagonally ที่แปลว่า แนวทะแยงมุม
  • Leicester Square บริเวณจัตุรัสเลสเตอร์ จะมีโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่รายรอบ และมักใช้เป็นสถานที่เปิดตัวภาพยนตร์ต่างๆ (ดักรอดูดาราฮอลลีวู้ดเดินพรมแดงกันได้ครับ :P ) และจัตุรัสเลสเตอร์ยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากไชน่าทาวน์ China Town ย่านร้านอาหารจีนต่างๆ ซึ่งนับเป็นสถานที่ฝากท้องแหล่งใหญ่ และซื้อข้าวของเครื่องใช้ทั้งจีนและไทย ที่คนไทยไม่พลาดกัน
อีกมุมหนึ่งของตรอกเซซิลคอร์ต
กับทัวร์นักท่องเที่ยวอีกกลุ่ม
  • ศูนย์กลางลอนดอน (Centre of London) บริเวณใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของ หอแสดงภาพศิลป์แห่งชาติ (National Gallery) จัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) ที่มีเสาอนุสรณ์นายพลเนลสัน (Nelson's Column) ใกล้กับสถานีรถไฟชาริ่งครอส (Charing Cross) ที่นับเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงลอนดอน
  • จึงเรียกได้ว่า ตรอกเซซิลคอร์ต (Cecil Court) หรือตรอกไดอะกอน (Diagon Alley) ของเราในที่นี้ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน และไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้เลยนะครับ
  • หากไม่นับตรอกเซซิลคอร์ต (Cecil Court) แล้วล่ะก็ ยังมีสถานที่ถ่ายทำฉากตรอกไดอะกอนในภาพยนตร์ Harry Potter นั้น ในกรุงลอนดอนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ ตลาดลีดเด้นฮอลล์ (Leadenhall Market)
  • โรงถ่ายลีฟส์เด็น (Leavesden Studios) ด้วยพลังแห่ง Google ทำให้คุณสามารถเข้าไปเดินเล่นในตรอกไดอะกอน Diagon Alley ที่สร้างอยู่ภายในสตูดิโอลีฟส์เด็น ของวอร์เนอร์บราเธอร์ส (Warner Brothers) .. คุณสามารถใช้เม้าส์คลิกลากแผนที่ข้างล่าง เพื่อชมบรรยากาศภายในตรอกไดอะกอนได้เลยนะครับ


พาเที่ยวตรอกไดอะกอน (Diagon Alley) ซะเพลิน ผมยังไม่ได้พูดถึงร้านหนังสือศาสตร์เร้นลับและการพยากรณ์เลย งั้นช่วงหน้ามาต่อกันอีกนิดก่อนวันหยุดยาวนะครับ ;)
อ่านเพิ่มเติม »

สั่งซื้อไพ่ทาโรต์ ไพ่ออราเคิล ไพ่ยิปซี จาก Amazon UK หรือ Amazon US