26 ตุลาคม 2553

ความต่างของไพ่พยากรณ์ (๑/๒): ไพ่ทาโรต์ ไพ่ยิปซี ไพ่ออราเคิล และไพ่ป๊อก (Differences between Tarot, Oracle and Playing Cards - 1/2)

หลายท่านมักสับสนว่าไพ่พยากรณ์แบบใดที่เรียกว่าไพ่ยิปซี ไพ่พยากรณ์แบบใดที่เรียกว่าไพ่ทาโรต์ หรือบางท่านอาจเริ่มคุ้นๆหูกับศัพท์คำว่าไพ่ออราเคิล และตามที่ได้เคยเกริ่นๆไว้ในบทความไพ่พยากรณ์ก่อนๆ วันนี้คงต้องขอลัดคิวบทความอื่นเพื่อมาสาธยายให้ฟังกันคร่าวๆนะครับ

หมายเหตุ: กะว่าจะเขียนสั้นๆ ไปๆมาๆคงต้องขอตัดเป็นสองตอน เพื่อไม่ให้แต่ละบทความในบล็อกยาวจนเกินไปนัก ... อ่านบทความช่วงที่สองในส่วนของไพ่ยิปซีและไพ่ออราเคิลครับ


ไพ่ป๊อก (Playing Cards)

ตัวอย่างไพ่จีนยุคเริ่มแรก ที่มาภาพจาก
http://www.cs.man.ac.uk/~daf/i-p-c-s.org
ก่อนอื่นขอเริ่มที่ไพ่ป๊อกหรือไพ่ฝรั่งที่เราใช้เล่นกันตามปกติ (Playing Cards) ซึ่งเราๆท่านๆน่าจะรู้จักกันดี

หากว่ากันตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นแล้ว รากฐานดั้งเดิมของไพ่น่าจะถือกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 9 ในสมัยราชวงศ์ถังของจีน ซึ่งต่อมาก็ได้รับการเผยแพร่ไปทางประเทศแถบตะวันออกกลาง และเริ่มเข้าสู่ทางยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ซึ่งต่อมาก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจนมีหน้าตาตามหน้าไพ่ในแบบที่เราพบเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน (อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดในแง่ของรอยต่อระหว่างไพ่แต่ละยุคเหล่านี้) ... ส่วนการเรียก "ไพ่ฝรั่ง" แบบที่เรียกว่า Playing Cards นี้ว่า "ไพ่ป๊อก" คาดว่าคงมีเรียกกันเฉพาะในหมู่คนไทย และขอสันนิษฐาน(เอาเอง)ว่า ถ้าไม่เพราะเพี้ยนมาจากคำว่า "โป๊กเกอร์" (Poker) ก็คงมาจากการเล่นไพ่ป๊อกเด้งหรือไพ่ป๊อกแปดป๊อกเก้าตามนิสัยชอบพนันกันกระมัง ^_^

ไพ่ป๊อกมาตรฐานในปัจจุบันนี้ประกอบด้วยไพ่ทั้งหมด 52 ใบ โดยไม่นับรวมไพ่โจ๊กเกอร์ (Jokers) อีกสองใบ (ซึ่งเพิ่งจะได้รับการเพิ่มเข้ามาในภายหลังเมื่อไพ่เริ่มถูกเผยแพร่เข้าสู่อเมริกาช่วงศตวรรษที่ 19 นี้เอง) โดยสามารถแบ่งไพ่ทั้งหมดออกเป็นสี่ชุดหรือสี่ดอก (Suits) ได้แก่
  • โพธิ์ดำ (Spade) ♠
  • โพธิ์แดง หรือหัวใจ (Heart)
  • ดอกจิก (Club) ♣
  • ข้าวหลามตัด (Diamond)

โดยในแต่ละชุดประกอบด้วยไพ่ทั้งหมด 13 ใบ แบ่งเป็น
  • ไพ่แต้ม (Pip Cards) จำนวน 10 ใบ เรียงกันจาก Ace, 2, 3,... , 10 และ
  • ไพ่บุคคล (Court Cards) อีกชุดละ 3 ใบ ได้แก่ แจ๊ค (Jack) , แหม่ม (Queen) และคิง (King)

ขนาดของไพ่ป๊อกมาตรฐาน (Poker Size) คือ 2.5×3.5 นิ้ว หรือ 6.35×8.89 เซนติเมตร

สำหรับไพ่ป๊อกแล้วโดยส่วนใหญ่หน้าตาและตำแหน่งการจัดวางสัญลักษณ์ต่างๆบนหน้าไพ่จะคงรูปแบบไว้ตายตัว.. แต่ส่วนน้อยนั้นไว้คงได้นำเสนอในโอกาสต่อไปครับ ;)


ไพ่ทาโรต์ (Tarot Cards)

กล่าวกันว่าสำรับไพ่ทาโรต์นั้นได้รับการพัฒนามาจากไพ่ป๊อกในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 โดยเพิ่มไพ่ชุดใหญ่เข้าไปนอกเหนือจากไพ่สี่ชุดปกติของไพ่ป๊อกแบบเดิม จุดประสงค์หลักนั้นคือเพื่อใช้ในการเล่นเกมส์ไพ่ (รูปด้านข้างนี้เป็นภาพตัวอย่างของไพ่ที่ใช้เล่นเกมส์ไพ่ประเภทนี้ สามารถคลิกที่รูปเพื่อชมภาพขยายครับ) ต่อมาจึงได้ถูกนำมาใช้ในการดูดวงการพยากรณ์และพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นสำรับไพ่ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันในปัจจุบัน ... ว่าไปแล้ว ตรงนี้ก็ไม่แน่นะครับ.. แม้ว่าโดยหลักฐานจะระบุการใช้ไพ่ทาโรต์ในการพยากรณ์เพิ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แต่เดิมทีการที่ไพ่ได้รับการเผยแพร่หรือแนวคิดพัฒนาแรกเริ่มนั้นอาจจะมาจากการใช้เพื่อทำนายเป็นหลัก แล้วจึงเปลี่ยนเป็นเกมส์ไพ่ในภายหลังก็ได้.. ใครเลยจะรู้ :P

สำรับไพ่ทาโรต์ที่ใช้ในการพยากรณ์ที่คุ้นตากันดีคือ สำรับไพ่ทาโรต์ชุดไรเดอร์เวท (Rider Waite Tarot) บ้างก็เรียกว่าไรเดอร์เวทสมิธ (Rider-Waite-Smith Tarot) มักใช้คำย่อว่า RWS เพื่อเน้นให้เกียรติศิลปินผู้วาดสำรับนี้ด้วย (แนะนำบทความ ประวัติไพ่ทาโรต์ไรเดอร์เวทสมิธ และไพ่อนุสรณ์พาเมล่า) โดยสำรับไพ่ไรเดอร์เวทนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนกระทั่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าหน้าตาสีสันแบบนี้จึงชื่อว่าไพ่ทาโรท์..หน้าตาแบบอื่นไม่ใช่ก็มี ส่วนสำรับไพ่ทาโรต์แบบอื่นที่ได้รับความนิยมในอันดับรองลงมา แต่กลับไม่ค่อยแพร่หลายกันในประเทศไทยมากนักคือ ไพ่ทาโรต์ธ็อธ (Thoth Tarot) และไพ่ทาโรต์มาร์เซย์ (Tarot de Marseille)... ส่วนรายละเอียดแต่ละอันของไพ่ทาโรต์ทั้งสามระบบ ตลอดจนที่มาที่ไป จนถึงวิธีการอ่านและรูปแบบการทำนาย หากมีโอกาสจริงๆไว้คงค่อยๆทยอยเล่าให้ฟังกันทีละนิดแบบไม่เน้นประวัติศาสตร์จ๋าจนน่าเบื่อครับ (แต่คงจัดเป็นลำดับท้ายๆของบทความเลยล่ะครับ :P)

เปรียบเทียบ The Fool จากทั้งสามสำรับ ไรเดอร์, ธ็อธ, และมาร์เซย์ (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)



นอกเหนือจากสามสำรับที่กล่าวไว้ข้างต้น ยังมีสำรับไพ่ทาโรต์อื่นๆที่ได้รับการออกแบบในอีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักอิงโครงสร้างและระบบการอ่านการใช้งานตามสามสำรับข้างต้น แต่ไพ่ทาโรต์บางสำรับก็อาจพัฒนารูปแบบเฉพาะขึ้นมาใหม่โดยแทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิม

สำหรับสำรับไพ่ทาโรต์ที่ออกแบบโดยคนไทยเราเองก็มีอยู่หลายสำรับเช่นกัน อย่างเช่น ไพ่เซียมซีพุทธ Tarot Roots of Asiaที่เคยนำเสนอไปแล้ว หรือหน้าตาไทยๆแบบสำรับ "ไพ่ทาโรต์ไทย" และไพ่สยามทาโรต์ เป็นต้น (สำรับอันหลังสุดนี้ผมยังไม่มีเลย -_-") อืม..คาดว่าโอกาสหน้าคงจะได้มีโอกาสนำเสนอไพ่สัญชาติไทยไว้ในบล็อกดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ให้ได้ชมกันครับ... ระหว่างนี้สามารถชมตัวอย่างและรายละเอียดรูปหน้าไพ่ทาโรต์หลายๆแบบ หรือเปรียบเทียบไพ่ทาโรท์ใบเดียวกันจากแต่ละสำรับ จากเว็บไซท์ต่างๆที่ได้รวบรวมไว้ในหน้ารวมเว็บไพ่พยากรณ์นี้ครับ

ไม่ว่าสำรับทาโรท์จะมีความหลากหลายอย่างไร ส่วนใหญ่ต่างมีโครงสร้างมาตรฐานในแบบเดียวกัน โดยแต่ละสำรับไพ่ทาโรต์นั้นจะประกอบด้วยไพ่จำนวนทั้งหมด 78 ใบ โดยแบ่งเป็น



ไพ่ทาโรต์ชุดใหญ่ (Major Arcana หรือ Trumps)

ประกอบด้วยไพ่จำนวน 22 ใบ โดยนิยมกำกับไพ่แต่ละใบถูกด้วยชื่อเรียกตามรูปหน้าไพ่และด้วยตัวเลขโรมันเรียงกันไปตั้งแต่ The Fool (หมายเลข O หรือไม่มีตัวเลข), The Magician (หมายเลข I),... ไล่เรื่อยไปจนถึง The World (หมายเลข XXI)

ไพ่ทาโรต์ชุดเล็ก (Minor Arcana)

ประกอบด้วยไพ่จำนวน 56 ใบ โดยไพ่ Minor นี้สามารถแบ่งเป็นสี่ชุด (Suits) ซึ่งโดยทั่วไปจะได้แก่
  • ดาบ (Swords)  
  • ถ้วย (Cups หรือ Chalices)
  • ไม้เท้า (Wands, Rods, Batons, Staves หรือ Clubs)
  • เหรียญ (Pentacles, Disks หรือ Coins)
โดยในแต่ละชุดประกอบด้วยไพ่ทั้งหมด 14 ใบ คือ
  • ไพ่แต้ม (Pip Cards) จาก Ace ถึง 10 และสำหรับไพ่ทาโรต์ในยุคหลังๆ ในบางกรณีเมื่อกล่าวถึงว่ามีแต่ Pips มักสื่อถึงกรณีที่หน้าไพ่แต้มไม่มีภาพประกอบอื่นใด นอกจากสัญลักษณ์ของชุดนั้นๆ เป็นหลัก
  • ไพ่บุคคล (Court Cards) อีก 4 ใบ ได้แก่ เด็กรับใช้หรือมหาดเล็ก (Page) , อัศวิน (Knight) , ราชินี (Queen) และราชา (King)
แม้จะเป็นสำรับไพ่ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับการเล่นเกมส์
แต่หากจะนำมาใช้ในการพยากรณ์ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
.. กับสำรับ Jeu de Tarot พิมพ์โดย Grimaud
ด้วยรูปแบบการเรียงสัมภาษณ์ไพ่ที่ได้แนะนำไว้แล้ว
สัดส่วนของไพ่ทาโรต์โดยปกติจะมีขนาดส่วนยาวที่มากกว่าไพ่ป๊อกมาตรฐาน โดยไพ่ทาโรต์ส่วนใหญ่จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ตัดมุมมน) ขนาดประมาณ 7x12 เซนติเมตร (บวกลบข้างละ 1 เซนติเมตรโดยประมาณแตกต่างกันไปตามแต่สำรับ) ... และยังมีบางสำรับที่รูปร่างเป็นวงกลม หัวใจ ฯลฯ


เกร็ดความรู้ไพ่ทาโรต์เพิ่มเติม
  • คำว่า Arcana เป็นรูปพหูพจน์ของ Arcanum แปลว่าศาสตร์เร้นลับหรือความรู้ในเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนเกินที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจ ดังนั้นอาจแปลคำว่า Major Arcana และ Minor Arcana เป็นว่าความลับหลักและความลับย่อย ตามลำดับ
  • สำหรับไพ่ทาโรต์แล้ว ชื่อที่ใช้เรียก Major Cards ไม่จำเป็นต้องตายตัว และการเรียงเลขลำดับไพ่ก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่สำรับ ..จุดหลักที่ต่างในเรื่องของลำดับไพ่คือใบที่ VIII และ XI โอกาสหน้าคงได้กล่าวถึงครับ
  • ในส่วนของ Court Cards ศัพท์ที่ใช้เรียกไพ่แต่ละใบยังแตกต่างกันไปตามสำรับด้วย บ้างเรียก Page เป็น Knave หรือ Valet (อ่านว่า "เนฟ" และ "วา-เล่" ตามลำดับ) หรือเปลี่ยน Page เป็น Princess ให้คู่กันกับ Knight ที่เปลี่ยนเป็น Prince รวมทั้งยังอาจจะสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งและความสำคัญไปมาภายในกลุ่ม Court Cards นี้
  • เช่นเดียวกัน ชื่อหรือศัพท์ที่ใช้เรียกไพ่แต่ละชุดนี้ (Suit) แตกต่างกันไปตามแต่สำรับ เช่น สำรับไพ่เก่าๆทางเยอรมันจะเป็นผลลูกโอ๊ค (Acorn) แทนไม้เท้า ใบไม้แทนดาบ กระดิ่งแทนเหรียญ และหัวใจแทนถ้วย เป็นต้น
  • ชุดไพ่ทั้งสี่ชุดในไพ่ป๊อกและไพ่ทาโรต์มักจะอิงตามธาตุทั้งสี่หรือฤดูกาลทั้งสี่ ยกตัวอย่างสำหรับไพ่ทาโรท์แล้ว โดยทั่วไปมักจะเป็น ดาบกับธาตุลม ถ้วยกับธาตุน้ำ ไม้เท้ากับธาตุไฟ และเหรียญกับธาตุดิน ..ทว่าการอิงเทียบเคียงกันระหว่างชุด ธาตุและฤดูกาลนั้น ก็แตกต่างกันไปตามแต่ระบบวิธีการทำนายที่ใช้ และยังต่างกันไปในแต่ละสำรับอีกด้วยเช่นกัน ...เดี๋ยวไว้โอกาสต่อไปคงจะได้นำเสนอรีวิวสำรับไพ่ Tarot Nova ที่เราเคยสัมภาษณ์ไพ่กันไว้ในคราวก่อน ซึ่งเป็นสำรับที่นำสัญลักษณ์ทั้งสี่ชุดของไพ่ทาโรต์กับสี่ชุดของไพ่ป๊อกมาโยงเกี่ยวพันกัน

ขอจบบทความในช่วงแรกเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ.. เดี๋ยวไว้เรามาต่อกันในช่วงที่สอง ในส่วนของไพ่ออราเคิล ไพ่ยิปซี และบทสรุปกันนะครับ

เพิ่มเติม:

11 ความเห็น:

Peterito กล่าวว่า...

ขอบคุณคุณ มากครับ มีบทความดีดีมาให้อ่านกันอีกแล้ว รออ่านตอนที่สองอยู่นะครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับ

washiravit กล่าวว่า...

ชอบมากๆครับ ตามอ่านเเบบไม่ผิดหวังเลย

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ขอบคุณที่ติดตามเช่นกันนะครับ :)

Dear กล่าวว่า...

เข้ามาทักทายค่ะ...ได้ความรู้มากๆเลย เขียนให้อ่านเข้าใจได้ไม่ยากด้วยมา cheer ค่ะ @^_^@

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ แค่แวะมาทักทายก็ถือเป็นกำลังใจอันดีเยี่ยมแล้วครับ เดี๋ยวไว้คงต้องถือโอกาสแวะไปเยี่ยมชมและทักทายบล็อกคุณเดียร์บ้างนะครับ

Dear กล่าวว่า...

ยินดีต้อนรับเลยคร๊าบบบบบ เดียร์แค่โม้ให้ฟังไปเรื่อยๆตามสาว (หรือเปล่า?)ช่างฝันน่ะค่ะ...อิอิ เคยรู้สึกแบบนี้ไม๊อะคะ เวลาที่เขียนอะไรลงไปก็ยิ้มพรายไปกับตัวอักษรน่ะค่ะ ^_^
มาได้บ่อยๆเลยนะคร๊า >_<

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ส่วนใหญ่จะยิ้มในเวลาอ่านครับ ส่วนเวลาเขียนนี่ออกแนวฟุ้งซะมากกว่า :P

Dear กล่าวว่า...

อิอิ...งั้นขอให้รอยยิ้มนั้นเกิดขึ้นเวลาอ่านที่บล๊อก http://angel2tarot.wordpress.com/

โอมมมมมเพี๊ยงงงงงงงงงงงงงงง >_<

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

สัมฤทธิ์ผลตั้งแต่ยังไม่ทันได้เข้าอ่านแล้วครับ ^_^

Unknown กล่าวว่า...

ได้คำตอบแล้วค่ะ สำหรับมือใหม่หัด เรียนรู้

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ขอบคุณคุณ puttamart2516 นะครับ ที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมและแสดงความเห็น ^_^

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น