12 เมษายน 2554

สัมผัสไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot Pack Review - Part One

กล่องไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot
ใหม่เอี่ยมในห่อพลาสติก (คลิกรูปเพื่อขยาย)
ไม่รอช้ากับบทความ Review ไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ด้วยชุดสำรับไพ่ทาโรต์ตัวจริงแบบเต็มรูปแบบ ที่เพิ่งออกวางจำหน่ายเมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเว็บบล็อกดร.เซ่ไพ่พยากรณ์เราน่าจะเป็นเว็บไซท์เจ้าแรกในโลกที่ได้รีวิวและสัมผัสสำรับไพ่ตัวจริง สดๆใหม่ๆต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทยกันไปเลย โดยไพ่ทาโรต์ Wildwood ชุดนี้ทางเว็บบล็อกเราได้เกริ่นๆมาบ้างครั้งสองครั้งตั้งแต่ยังไม่ออกวางตลาด (ข่าวสำรับไพ่ทาโรท์ และ เกาะกระแสไพ่ทาโรต์) คราวนี้ก็ได้เวลาที่เราจะกลับคืนสู่ป่าเข้าถึงธรรมชาติกับ Wildwood Tarot กันแล้วครับ ;)

เพิ่มเติม
คลิกเพื่อสั่งซื้อไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot จากเว็บ Book Depository (ส่งฟรีจากต่างประเทศ)

บทความรีวิวไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ช่วงต่อไป


ความเป็นมาเบื้องต้นไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot (Background Information)

หลายท่านคงทราบกันแล้วว่าไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot กำเนิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่าง
Mark Ryan กับเจ้า Bumblebee แบบ(กึ่ง)ดั้งเดิม
ที่มาภาพ http://www.chicagonow.com/
  • คุณ Mark Ryan จากผลงานไพ่ทาโรต์ Greenwood Tarot อันกลายเป็นตำนานในวงการไพ่ทำนายไปแล้ว ..ไม่เกี่ยวกับไพ่ทาโรต์แต่เสริมนิดว่า นอกจากผลงานด้านไพ่พยากรณ์ คุณ Mark Ryan ยังมีชื่อเสียงในวงการบันเทิงดารานักแสดง ทั้งด้านงานละครเวที ละครทีวี และภาพยนตร์ โดยผลงานเด่นที่น่าจะจดจำกันได้คือ เป็นผู้พากษ์เสียง Bumblebee หุ่นยนต์รถเชฟโรเลต Chevrolet (เชฟ-โฟรว-เล) คันเหลืองคาดดำตัวเด่นจากภาพยนตร์เรื่อง Transformers นั่นเอง
  • คุณ John Matthews เจ้าของผลงานไพ่ทาโรต์แนวตำนานยุโรปและเซลต์(เคลต์)อย่าง Arthurian Tarot, Celtic Oracle, Celtic Shaman's Pack และ Grail Tarot อีกทั้งยังเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์เรื่อง King Arthur ที่ออกฉายช่วงปี 2004 โดยมี Clive Owen และ Kiera Knightly นำแสดง
  • คุณ Will Worthington ซึ่งเป็นศิลปินผู้วาดภาพหน้าไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ในครั้งนี้ ผู้สร้างสรรค์งานภาพอันสร้างความประทับใจต่อนักพยากรณ์ไพ่ทั่วทั้งวงการ ทั้งจากสำรับไพ่ "รุ่นใหญ่" อย่างไพ่ทาโรต์ DruidCraft Tarot, ไพ่ออราเคิล Druid Animal Oracle และ The Green Man Tree Oracle

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีเสียงเล่าลือกันว่า ไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot เป็นสำรับไพ่ทาโรต์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากแนวคิดและโครงสร้างของไพ่ Greenwood Tarot ซึ่งเป็นหนึ่งในสำรับไพ่ทาโรต์หายากและเป็นที่ต้องการสูง (โปรดสังเกตราคาจากลิงค์อะมาซอนด้านข้างประกอบ :P) พร้อมปรับเปลี่ยนหน้าตาและการออกแบบในหลายส่วน ทั้งนี้เนื่องจากหนึ่งในผู้ผลิตสำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot เป็นท่านเดียวกันคือคุณ Mark Ryan

ส่วนคำเล่าลือดังกล่าวเกี่ยวกับ Greenwood Tarot จะเป็นเพียงกระแสโฆษณาเพื่อกระตุ้นยอดขาย หรือจะมีส่วนคล้ายคลึงกันมากน้อยเพียงใดกับสำรับ รอติดตามชมรีวิวไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ในเว็บบล็อกดร.เซ่ไพ่พยากรณ์จนจบนะครับ ...อย่างไรก็ตามที่สำคัญกว่านั้น ณ เบื้องต้นตอนนี้ เว็บดร.เซ่ไพ่พยากรณ์เราบอกได้เลยว่าไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot มีดีได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบารมีไพ่ทาโรต์ Greenwood Tarot หรือ Druidcraft Tarot (แต่ชื่อเสียงของทั้งสองสำรับย่อมรับประกันความมันส์และความน่าสนใจของไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ชุดนี้ อย่างไม่ต้องสงสัยครับ ^_^)


ไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot: US & UK versions

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ชุดนี้มีวางจำหน่ายด้วยกันสองเวอร์ชั่น คือ

  • ไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ทางฝั่งอังกฤษ United Kingdom จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Connections Book Publishing ซึ่งออกวางตลาดก่อนในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และสามารถสั่งซื้อจาก Amazon UK ได้แล้ว หลักๆก็คงเพราะ Wildwood Tarot เป็นสำรับไพ่ทาโรต์สัญชาติยุโรปแถบอังกฤษนั่นเอง ;) ทั้งตัวสำรับไพ่ทาโรต์เองและผู้สร้างสรรค์สำรับไพ่ ...และแน่นอนครับสำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ที่นำมาใช้ Review กันในเว็บบล็อกดร.เซ่ไพ่พยากรณ์งวดนี้ สั่งตรงมาจากทางฝั่งอังกฤษนั่นเอง

  • ไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ทางฝั่งอเมริกา US จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Sterling Publishing โดยมีกำหนดการวางจำหน่ายในช่วงเดือนมิถุนายน ขณะเดียวกันมีบางส่วนให้ความเห็นไว้ว่า สำรับไพ่ทาโรต์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ของทางสำนักพิมพ์ Sterling นี้ เช่น Truth Seeker's Tarot ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่ในแง่ของคุณภาพกระดาษไพ่ ดังนั้นหากท่านใดจะรอสำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ชุดนี้จากฝั่งอเมริกา อาจต้องตรวจสอบข้อมูลอีกทีว่าจะแตกต่างกันหรือไม่


เปิดกล่องไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot

  • กล่องไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ทำจากวัสดุกระดาษแข็งหนา เคลือบมัน กล่องมีสีเขียวเข้ม เปิดกล่องทางฝาด้านหน้า โดยฝากล่องสามารถแยกได้อิสระจากตัวกล่อง และเมื่อซ้อนปิดกันแล้ว ก็กระชับแน่นไม่เลื่อนหลุดโดยง่าย โดยรวมแล้วต้องบอกว่าน่าประทับใจมากครับในส่วนนี้ ^_^
ค่อยๆบรรจงแกะห่อพลาสติกที่หุ้มกล่อง Wildwood Tarot ออก :)
โปรดสังเกตทางหัวและท้ายกล่องของฝาด้านหน้า จะมีร่องบากเป็นแนวโค้ง
เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการเปิดกล่องไพ่ทาโรต์ (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)
  • ขนาดสัดส่วนกล่องไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot คือ 21.2 x 15.6 x 3.4 เซนติเมตร

ด้านหน้ากล่องไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot

ด้านหน้ากล่อง Wildwood Tarot
(คลิกที่รูปเพื่อขยาย)
  • ระบุชื่อสำรับ THE WILDWOOD TAROT ด้วยอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่โดยมีเงาซ้อนจางๆ พร้อมต่อท้ายด้วยคำโปรยเล็กน้อยว่า Wherein wisdom resides และต่อด้วยชื่อผู้ผลิต คือคุณ Mark Ryan และคุณ John Matthews และระบุชื่อผู้วาดภาพหน้าไพ่ (With cards illustrations by) คือคุณ Will Worthington
  • ภาพหน้ากล่องไพ่ นำมาจากหน้าไพ่เมเจอร์ (Major Arcana) ลำดับที่ 8 The Stag ซึ่งจะมีความหมายคล้ายไพ่ Justice ในระบบไพ่ทาโรต์ทั่วไปที่ไม่ใช่ไรเดอร์เวท (หมายเหตุ สำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ชุดนี้ ลำดับไพ่ Justice คือ 8 ..ส่วนลำดับไพ่ Strength หรือเรียกว่า The Woodward คือ 11 แบบเดียวกับไพ่ทาโรต์หลายสำรับที่เราเคยพูดถึงหรือแนะนำกันไป อย่างเช่น ไพ่ทาโรต์น่ารักอย่าง Tarot Nova เป็นต้น)

ด้านข้างกล่องไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot


  • ระบุชื่อสำรับ THE WILDWOOD TAROT พร้อมผู้แต่งหนังสือคู่มือทั้งสองท่าน (ไม่มีชื่อคุณ Will)
  • โดยแถบสีเขียวด้านข้างระบุสิ่งที่บรรจุภายในกล่อง และต่อด้วยชื่อสำนักพิมพ์ Connections
  • ส่วนด้านข้างฝั่งตรงกันข้าม ตัวหนังสือจะกลับบนล่าง (หรือกล่าวง่ายๆคือ ในด้านข้างทั้งสองด้าน เริ่มอ่านตัวหนังสือจากทางด้านบนของตัวกล่อง)
  • ด้านข้างทางด้านบนและล่าง ไม่มีลวดลายหรือตัวหนังสืออะไร นอกจากรอยบากโค้งสำหรับเปิดกล่องไพ่ทาโรต์

ด้านหลังกล่องไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot

ด้านหลังกล่อง Wildwood Tarot
(โปรดสังเกตร่องบากโค้งของฝาด้านหน้า)
  • พื้นหลังกล่องชุดไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot เป็นสีน้ำตาลอ่อน โดยมีกรอบและลวดลายสีเขียวเข้มตามตัวกล่องล้อมรอบ
  • คำโปรยขึ้นต้นเริ่มด้วย For those who love the ancient woods และขยายความชวนกลับเข้าป่าไม้ธรรมชาติ (wildwood) เรียนรู้ประสบการณ์ของโลกแห่งตำนานและธรรมชาติ พร้อมคำโปรยโฆษณาส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สร้างสรรค์สำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ทั้งสามท่าน
  • ตบท้ายคำโปรยด้วยการระบุถึงไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ที่ดึงแรงบันดาลใจจากยุคก่อนตำนานเซลติกและระบบความเชื่อ ที่เต็มอิ่มแฝงในภูมิปัญญาโบราณและตำนานแห่งป่า บนพื้นฐานของจังหวะลีลาแห่งฤดูกาล
  • ภาพหน้าไพ่ทาโรต์ 3 ใบ ที่แสดงบนด้านหลังกล่อง ประกอบด้วย (จากบนลงล่าง)
    • ไพ่ทาโรต์เมเจอร์ (Major Arcana) หมายเลข 19 เดอะซัน (The Sun) หรือในชุด Wildwood Tarot นี้เรียกว่า The Sun of Life
    • ไพ่เดอะฟูล (The Fool) ไพ่เมเจอร์หมายเลขศูนย์ 0 ซึ่งในชุดนี้เรียกว่า The Wanderer
    • ไพ่เมจิคเชี่ยน (The Magician) ไพ่เมเจอร์หมายเลข 1 ซึ่งในชุดนี้เรียกว่า The Shaman

ภายในกล่องบรรจุภัณฑ์

หนังสือคู่มือไพ่ ฝากล่องด้านหน้า และสำรับไพ่ Wildwood Tarot
  • หนังสือคู่มือประจำสำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot จำนวน 160 หน้า โดยวางได้พอดีกับตัวกล่องด้านใน
  • สำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot จำนวน 78 ใบ ไม่มีไพ่แถมหรือไพ่ปกใดๆ (No Cover Card) โดยถูกวางแยกเป็นสองกองในช่องกล่องพลาสติก โดยแต่ละกองถูกรัดด้วยแถบพลาสติกใสอีกทีเพื่อไม่ให้เลื่อนหลุดได้ง่ายขณะขนส่ง
ไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ที่ถูกจัดเรียงในกล่องอย่างสวยงาม
โพสท์ภาพชัดๆ เพื่อเตือนว่าอย่าลืมติดตามอ่านบทความในช่วงต่อไปนะครับ ;)

จบช่วงแรกของรีวิว รอติดตามช่วงหน้าในส่วนของหนังสือคู่มือประจำสำรับไพ่ และตัวสำรับไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot รวมถึงเกร็ดความรู้เสริมอื่นๆกันนะครับ

เพิ่มเติม
บทความรีวิวไพ่ทาโรต์ Wildwood Tarot ช่วงต่อไป

16 ความเห็น:

Peterito กล่าวว่า...

มือไม้สั่นกับริวิชุดนี้เลยครับ ในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง ผมนึกว่าไพ่ที่มาจากอาเมริกาจะพิมพ์ที่ US GAME ซะอีกครับ แต่ทำไมอาเมริกาถึงจะวางจำหน่ายตั้งมิถุนานะครับ แล้วชุดที่พิมพ์อังกฤษนี่เนื้อไพ่เหมือนกับ Lo Scarabeo ไหมครับ

ดูๆ Lenormand ไว้ก่อนหน้านี้เหมือนกันครับ แต่คงต้องพักเอาไว้ก่อนแล้วละครับ ตัวจริงเขามาแล้ว

รอตอน 2 อยู่นะครับ......... ^ _^

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น้ำลายไหล ^___^

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

เรื่อง US กับ UK ตามที่กล่าวข้างต้นในบทความ เป็นคนละสำนักพิมพ์กันครับ ไม่ใช่พิมพ์จากบริษัทที่เราคุ้นๆกันประจำ จึงอาจสั่งจัดพิมพ์ไม่พร้อมกัน ทำให้ออกช้าเร็วแตกต่างกัน หรืออาจจะเพราะความเป็นสำรับไพ่ทาโรต์สัญชาติอังกฤษ เลยมีเงื่อนไขทางสัญญาอะไรบางอย่างกันก็ได้ ทั้งนี้ลิขสิทธิ์การพิมพ์ของทั้งสองที่ในครั้งนี้นั้นล้วนเป็นของบริษัท Eddison-Sadd ครับ

เนื้อกระดาษไพ่และการเคลือบไพ่ เหมือนเอากระดาษไพ่ทาโรต์ Druidcraft Tarot (ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Connections เช่นกัน) มาผสมกระดาษไพ่ในเครือ Lo Scarabeo ..ส่วนจะออกมาในรูปแบบใดนั้น รายละเอียดรอดูภาพถ่ายสำรับไพ่อีกทีในบทความต่อๆไปครับ ;)

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ตามที่ระบุในหนังสือคู่มือ ลิขสิทธิ์การพิมพ์ครั้งนี้เป็นของ Eddison-Sadd ก็จริง แต่เรื่องลิขสิทธิ์งานเขียนยังเป็นของคุณ Mark Ryan และคุณ John Matthews อยู่นะครับ ..โดยลิขสิทธิ์ภาพหน้าไพ่ทาโรต์นี้ก็แยกเป็นส่วนของคุณ Will Worthington ต่างหากไปอีกอัน (เล่าให้ฟังเป็นข้อมูลเล่นๆครับ คนเล่าเองก็มึนๆ @_@)

เมธี กล่าวว่า...

สวยครับๆ ตัวไพ่เหมือนหรือต่างจาก druidcraft อย่างไรบ้างครับ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

เท่าที่ทราบ Druidcraft Tarot ทั้งสองเวอร์ชั่นก็ไม่เหมือนกันอีก เลยไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกันครับ.. แต่หากเทียบกับ Druidcraft เวอร์ชั่นที่เคยจับ(กล่องเล็ก) กระดาษไพ่และการเคลือบคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียวครับ รายละเอียดไว้รอตามอ่านในช่วงหน้าครับ (แย้บๆ ไว้เรียกลูกค้าซะงั้น ;P)

CHAOS กล่าวว่า...

อยากดู อยากดู อยากดู 555++

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

อดใจนี๊ดดดนะครับ พอดีรีบปั่นบทความรีวิวไพ่ช่วงแรกมาก่อน ทันทีที่ได้สำรับเลย @_<" ช่วงหลังเดี๋ยวขอพักเอาแรงแป๊บนึง :)

Masahiro กล่าวว่า...

สวัสดีฮะ พอดีกำลังเริ่มศึกษาศาสตร์ด้านไพ่ tarot แล้วลองค้นเว็บรีวิวไพ่ในไทยผ่านกูเกิ้ลแล้วเจอบล๊อคของคุณ "ณธัชพงศ์" ขออนุญาตนะฮะ ใช่คุณ He-Who-Must-Not-Be-Named จากโต๊ะศาสนาในเว็บพันทิป และคุณ HWMNBN ใน ztarot ใช่ไหมฮะ พอดีตามสิงอยู่ 2 เว็บนี้ เลยขออนุญาตถามเพื่อความแน่ใจ ^^

ได้ติดตามอ่านรีวิวไพ่ของคุณ ณธัชพงศ์ ทำเอาตกหลุมที่คุณขุดไว้ ติดใจสำรับ Shadowscapes Tarot และชุด Fairy Tale Tarot แต่ลองไปถามทั้งคิโนะและเอเชียบุ๊คของดันหมดซะได้ เลยสั่งจองไว้แล้ว อีกสักพักคงได้ยลโฉม ^^

ตอนนี้มีตำราของ อ.ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา (Rider-Waite tarot) กับตำราของ อ.สังคม ฮอหรินทร์ (Tarot of the Cat People) ศึกษาจากตำราของอาจารย์ทั้งสองท่าน และใช้สำรับ Rider-Waite tarot (สำรับแถม) ในการฝึกทำนาย ไม่ทราบว่าพอจะมีอะไรแนะนำสำหรับมือใหม่บ้างไหมฮะ

แต่แค่เห็นรีวิวสำรับ Wildwood Tarot พาร์ทแรก ดูท่าระหว่างที่รอพาร์ทต่อคงต้องสำรองเงินเตรียมไว้ซะแล้ว สำรับงามแท้ \^^/

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ใช่ทั้งหมดนั่นล่ะครับ ;)

เพราะช่วงก่อนเห็นเว็บพันทิปล่มบ่อย ถึงได้นำรีวิวเก่าๆในนั้นมารวบรวมโพสท์ไว้ในบล็อกนี้แทน (เสียดายบทความหลายๆอันก่อนหน้านี้เหมือนกัน พิมพ์เสร็จไม่ได้เซฟไว้ -_-") ส่วนใน ztarot ก็มาจากอักษรย่อของล็อกอินเดิมในพันทิป หากสังเกตใต้ข้อความที่โพสท์ใน ztarot จะมีลิงค์บล็อกนี้แนบไว้

ความเชื่อมต่อระหว่างกันตรงนี้ไม่เป็นความลับอยู่แล้วครับ เพราะหากสังเกตที่หลายท่านโพสท์พูดคุยกันในบล็อกนี้และในพันทิปก็จะพอทราบได้ครับ จึงได้เรียกว่าคุณ "He" แทน.. เพราะ "ณธัชพงศ์" (ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในวงการไพ่พยากรณ์) จะพิมพ์ยาวไปนิ๊ดด :P

ส่วนจะสะดวกเรียกชื่อไหนก็ได้ทั้งนั้นครับ ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ^_^

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ส่วนหนังสือไพ่ทาโรต์ ฉบับภาษาไทย ตามที่กล่าวถึงก็ใช้ได้แล้วครับ ทว่าทั้งสองเล่ม อาจไม่ได้กล่าวถึงความหมายไพ่หรือสัญลักษณ์ตามภาพหน้าไพ่ชุดที่แถมเท่าไหร่นัก แต่โดยรวมถือเป็นหนังสือไพ่ทาโรต์พื้นฐานที่ดีครับ

ลองดูในกระทู้แนะนำหนังสือไพ่ทาโรต์ในพันทิป ที่คุณ Fluorine เคยแนะนำไว้ จะมีเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย (ส่วนผมเองเคยอ่านแค่เล่มสองเล่ม จึงแนะนำอะไรไม่ได้มาก)

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าศาสตร์พยากรณ์ไพ่ทาโรต์ พัฒนาอย่างมากในต่างประเทศ ควรศึกษาจากทางนั้นจะได้พื้นฐานที่ตรงและแน่นกว่า เพื่อให้ได้นำไปพัฒนาเป็นแนวทางของตนเองครับ ส่วนรายละเอียดหนังสือไพ่ทาโรต์แนะนำนี่ กะจะรวมๆไว้เขียนเป็นบทความในบล็อกนี้ แต่ก็ไม่มีโอกาสซักที -_-"

ปล.
ติดตามบล็อกนี้ไปเรื่อยๆ ระวังตกอีกหลายๆหลุมนะครับ ;P

Masahiro กล่าวว่า...

ถ้าเช่นนั้นขออนุญาตเรียกคุณ "He" ละกันนะฮะ

เนื้อหาในหนังสือทั้งของ อ.ขุนทองและ อ.สังคมนั้น ไม่ได้กล่าวถึงความหมายของสัญลักษณ์ที่ปรากฎบนภาพหน้าไพ่ มีเพียงความหมายโดยรวมของไพ่แบบละใบ ดูท่าเห็นทีจะต้องพึงกูเกิ้ลลองค้นหาข้อมูลจากเว็บต่างประเทศซะแล้ว ถึงเวลาขยันฝึกภาษาอังกฤษแล้วสินะ ^^

ถ้าติดตามบล็อคของคุณ He ไปเรื่อยๆนี่ ถึงไม่ต้องเปิดไพ่ทำนายก็พอมองเห็นอนาคตอยู่เนื่องๆเลย ก็คุณ He เล่นเอาสำรับสวยๆมาพลางหลุมที่ขุดดักไว้ซะลึกขนาดนี้ แล้วจะไม่ให้ตกหลุมพลางได้อย่างไร แถมแต่ละสำรับก็งามๆทั้งนั้น ทำเอาแกลบเลยกว่าจะซื้อเก็บได้สักชุด (พอดียังเป็นนักเรียนอยู่นะฮะ ^^) แต่ดูท่าระหว่างที่รอพาร์ทสองนี่ คงต้องเก็บหอมรอมริบเตรียมรอรับรองสำรับต่อไปแหงม ก็เล่นรีวิวซะน่าติดตามชวนสะสมซะขนาดนี้ แฮะๆ ^w^

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ฝากลิงค์ Study Group เพื่อศึกษาสำรับไพ่ทาโรต์ Tarot of the Cat people ครับ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

เจตนาที่นำเสนอบทความรีวิวสำรับไพ่ทั้งทาโรต์และออราเคิล เพราะด้วยอัตราค่าครองชีพที่ต่างกันระหว่างเมืองไทยเมืองนอก สำรับไพ่ต่างประเทศชุดนึงๆไม่ใช่ถูกๆสำหรับบ้านเรา

เลือกซื้อสำรับไพ่มาทีนึงก็ควรให้คุ้มค่าคุ้มราคา หรืออย่างน้อยก็ให้พอทราบเป็นข้อมูลเบื้องต้นคร่าวๆก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ว่าคุณจะได้อะไรบ้างภายในกล่อง เพราะจะแกะกล่องดูที่ร้านเลยก็อาจทำไม่ได้ (ทำได้อย่างมากก็อาจจะแค่หลังจากซื้อแล้ว จึงค่อยเปิดเช็คความเรียบร้อย เปลี่ยนได้เฉพาะกรณีไพ่มีตำหนิ เป็นต้น)


แต่ละท่านต่างก็มีสไตล์ไพ่ที่ชอบของตัวเอง แม้บล็อกนี้จะพยายามให้หลากหลาย แต่หน้าไพ่บางประเภทก็ไม่ใช่แบบที่ผมชอบ ควรลองหาข้อมูลเสริมต่างหาก ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นตามกระแสไปเสียหมด อาจขาดเอกลักษณ์ของตนเองไปได้

ยิ่งหากยังหาเงินใช้เองไม่ได้ ยิ่งต้องคิดพิจารณาให้ดีครับ ไม่ใช่ว่าเห็นสวยถูกใจก็ซื้อไว้ๆ แต่ควรใช้ไพ่ทาโรต์ ไพ่ออราเคิล แต่ละสำรับ แต่ละใบให้คุ้มๆ ศึกษาให้ถ่องแท้ ก่อนจะข้ามไปเลือกไพ่สำรับต่อไป

ด้วยความปรารถนาดีครับ ^_^

Masahiro กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ให้มานะฮะ
ตอนแรกเพียงแค่จะหาสำรับที่ถูกใจมาใช้ เพราะไพ่สำรับแถมที่มีอยู่กระดาษไม่ค่อยทน ใช้งานไม่ถนัด แต่พอค้นหาดูแล้วเห็นสำรับสวยๆ อย่างสำรับ Shadowscapes Tarot สำรับนี้ยอมรับว่าเห็นลายเส้นถูกใจจริงๆ ก็เลยซื้อเก็บไว้ ส่วนสำรับ Fairy Tale Tarot นี้สั่งซื้อเพราะสนใจในเรื่องของนิทานฮะ คราวนี้ขอแก้ตัวใหม่จะค่อยๆ ศึกษาสำรับไพ่ที่มีอยู่ แล้วจึงค่อยศึกษาสำรับถัดไป
ขอขอบคุณคำพูดของคุณ He นะฮะ ถือเป็นการช่วยเตือนสติตัวเองจริงๆ

แต่ยังไงก็ขอติดตามบล็อคนี้ต่อไปเรื่อยๆ ขอบคุณฮะ ^^

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ไพ่ทาโรต์ทั้งสองสำรับมาจากฝั่ง Llewellyn และเป็นรุ่นหลังๆด้วย คุณภาพกระดาษไพ่ถือว่าดีใช้ได้อยู่ แต่ไม่ถึงกับดีมาก .. ถ้าไปเจอไพ่ที่คุณภาพแบบดีมาก อาจกลายเป็นต้องควานหาไพ่ที่ตีพิมพ์ในช่วงเดียวกัน แม้จะไม่ชอบหน้าตาไพ่ก็ตาม

เอ.. กลายเป็นกลับมายุซะงั้น ;P เอาเป็นว่าถือเป็นคำแนะนำและคำเตือนแล้วกันนะครับ และนึกถึงผู้ปกครองไว้มากๆ ขอให้ใช้ไพ่ได้คุ้มๆครับ ;)

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น