5 มกราคม 2554

The Magician: Golden Tarot of Klimt (1/2)


ก่อนอื่นขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่านที่แวะเยี่ยมชมเว็บบล็อก ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ นะครับ ด้วยบทความนี้ถือเป็นบทความแรกของปีใหม่ ๒๕๕๔ นี้ งั้นเราขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นแนวเกร็ดความรู้บนหน้าไพ่กันบ้างครับ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้จำเจซ้ำซาก มีอะไรใหม่ๆ กับเนื้อหาที่ได้รวบรวมขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะสำหรับเว็บดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์นี้เท่านั้นครับ

เริ่มแรกของบทความแนวนี้ขอเปิดตัวด้วยไพ่ทาโรต์ Golden Tarot of Klimt ที่หน้าตาสวยๆแต่แปลกๆ ที่เราได้รีวิวสำรับไพ่กันไปในปีก่อนนะครับ (คลิก Review ไพ่ทาโรต์ Golden Tarot of Klimt) เพราะดังที่ได้เคยเกริ่นไว้ในบทความก่อน ภาพหน้าไพ่ทาโรต์ชุดนี้ค่อนข้างอ่านไพ่ได้ยาก สาเหตุหลักนั้นก็เนื่องจากภาพหน้าไพ่ไม่ได้รับการออกแบบมาโดยตรงเพื่อนำมาใช้เป็นสำรับไพ่ทาโรท์ เพียงแต่นำผลงานของคลิมต์มาดัดแปลงให้เข้ากับความหมายไพ่(ตามแนวไพ่ทาโรต์ไรเดอร์เวท) ซึ่งประเด็นนี้สามารถมองได้ในสองด้านโดย
  • ในแง่หนึ่งนั้น แม้แต่ภาพผลงานศิลปะของคลิมต์เพียงอย่างเดียวล้วนๆ ยังแฝงความหมายและนัยยะลึกๆบางอย่างเข้าไป ยิ่งเมื่อผนวกกับการนำมาประยุกต์ให้เข้ากับความหมายไพ่ทาโรต์อีกด้วยแล้ว ยิ่งเหมือนกับทำให้ต้องแปลความตีความหมายไพ่ไปสองชั้น 
  • ทว่าในอีกแง่หนึ่งนั้นอาจมองได้ว่าภาพของคลิมต์นั้นสื่ออารมณ์ที่สามารถแปลสภาวะออกมาคล้ายดังสภาวะไพ่นั้นๆได้โดยตรงอยู่แล้ว หากสามารถอ่านภาพหน้าไพ่นั้นๆหรือทราบความหมายภาพดังกล่าวย่อมส่งผลให้แปลความออกมาได้ทันที... แต่ทั้งนี้คงยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า เรายอมรับความถูกต้องในการคัดเลือกรูปภาพมาใช้แทนหน้าไพ่แต่ละใบของผู้สร้างสรรค์ไพ่ชุดนี้ด้วยเช่นกัน (ซึ่งจุดนี้ยิ่งแตกต่างจากสำรับไพ่ที่ศิลปินได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการทำนายโดยตรง)

แต่ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ตาม การทราบที่มาที่ไปประวัติความเป็นมาของผลงานภาพหน้าไพ่นั้นๆ ย่อมช่วยให้เราได้เข้าใจสภาวะภาพและสภาวะหน้าไพ่ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลให้การทำนายหรือแปลความจากหน้าไพ่ทำได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ว่าแล้วก็ไม่ขอพูดพล่ามทำเพลง เรามาเริ่มต้นปีด้วยประวัติเบาๆ บางส่วนของหน้าไพ่ทาโรต์ The Magician จากสำรับไพ่ Golden Tarot of Klimt ชุดนี้กันเลยครับ ส่วนเรื่องความหมายของสัญลักษณ์แฝงต่างๆในหน้าไพ่ทาโรต์ใบนี้นั้น เราค่อยมาต่อกันในช่วงที่สองของบทความนี้กันนะครับ และต้องขอบอกก่อนด้วยว่าความหมายหรือความรู้สึกบางอย่างต่อหน้าไพ่หรือหน้าภาพที่นำเสนอในบทความ เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของผมจากข้อมูลที่รวบรวมมา(ทั้งจากวิกิพีเดีย และเว็บไซท์อื่นๆอีกหลายแห่ง)เท่านั้นนะครับ เพราะคุณ Klimt เอง หรือคุณ A.A. Atanassov ที่เป็นผู้รังสรรค์ผลงานเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบไพ่ทาโรต์นั้น อาจไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกันนี้ก็ได้ครับ ;)


From "Medicine" to "The Magician"

หน้าไพ่ทาโรต์ The Magician
จากสำรับไพ่ Golden Tarot of Klimt
ภาพหน้าไพ่ The Magician ในชุด Golden Tarot of Klimt นี้ คุณ A.A. Atanassov ได้ปรับเปลี่ยนมาจากภาพเทพไฮจีเอีย Hygieia ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนล่างของภาพเต็มที่ชื่อว่า Medicine ที่สร้างสรรค์โดยคุณ Gustav Klimt

ภาพ Medicine นี้เป็นภาพลำดับที่สองจากภาพชุดที่ Klimt ที่ได้ออกแสดงผลงานในปี 1901 ภายหลังจากการได้รับมอบหมายให้สร้างสรรค์ภาพชุดนี้ตั้งแต่ปี 1893 เพื่อนำไปประดับตกแต่งแสดงไว้บนเพดานของห้องโถงใหญ่ (Great Hall) ในมหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) ประเทศออสเตรีย ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเรียกชื่อภาพชุดนี้ว่า Klimt University of Vienna Ceiling Paintings หรือบ้างเรียกกันว่า Faculty Paintings .. แต่ทว่าภาพชุดดังกล่าวกลับไม่เคยได้ถูกนำไปติดบนเพดานห้องโถงดังกล่าวเลย ส่วนสาเหตุเป็นเช่นใดนั้นลองค่อยๆติดตามอ่านบทความต่อด้านล่างนี้นะครับ ;)

ภาพเทพ Hygieia กับอารมณ์และ
พลังภาพที่สุดยอดครับ (คลิกเพื่อขยาย)
ภาพวาดในชุดนี้ประกอบไปด้วยผลงานสามชิ้นด้วยกันคือ Philosophy (ปรัชญา), Medicine (แพทยศาสตร์) และ Jurisprudence (หลักนิติศาสตร์) หมายเหตุ ในภาพที่ติดบนเพดานห้องโถงมหาวิทยาลัยเวียนนาชุดนี้ นอกเหนือจากภาพทั้งสามของ Klimt แล้ว ยังมีผลงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปินอื่นคือ Franz Matsch อีกสองชิ้น ได้แก่ Theology (เทววิทยา/ศาสนศาสตร์) และภาพบริเวณส่วนกลางของเพดาน "Triumph of Light over Darkness"

ทว่าด้วยความที่ภาพของ Klimt ในชุดนี้(และชุดอื่นๆ)มักประกอบด้วยภาพโป๊เปลือยโดยเฉพาะไม่ใช่แค่หญิงสาวหรือชายหนุ่ม แต่เป็นคนแก่บ้างหรือคนท้องบ้าง ยิ่งเป็นการเปิดประเด็นให้ถูกโจมตีในแง่จารีตประเพณีต่างๆในยุคนั้นพอสมควร นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์อีกบางส่วนที่ตำหนิในแง่ของสัญลักษณ์และความหมายแฝงของภาพต่างๆเหล่านั้น จากกระแสวิจารณ์ต่างๆทำให้ Klimt ติดต่อขอยกเลิกสัญญาและขอภาพคืนเพื่อนำมารักษาไว้เอง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธไปเพราะถือเป็นสมบัติของรัฐ และต่อมาภาพชุดนี้ได้ถูกย้ายเปลี่ยนมือไปมา จนสุดท้ายตกอยู่ในมือครอบครัวชาวยิวและถูกยึดต่อโดยทหารเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด

ภาพถ่ายเต็มของผลงาน Medicine
โดยมีรูปเทพเจ้า Hygieia เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่
(คลิกที่รูปเพื่อขยาย)

ภายหลังจากนำมาจัดแสดงในช่วงปี 1943 (ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) ภาพชุดนี้ได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ใน Schloss Immendorf ซึ่งเป็นปราสาททางตอนใต้ของประเทศออสเตรีย ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่ภาพชุดดังกล่าวนี้ได้ถูกทำลายลงไปในปี 1945 โดยองค์การ Schutzstaffel ซึ่งเป็นหน่วยทหารกำลังเสริมของกองทัพฮิตเลอร์พรรคนาซี ที่ได้เผาปราสาททิ้งในขณะถอนทัพออกไป เพื่อไม่ให้ผลงานดังกล่าว(รวมถึงสิ่งต่างๆภายในปราสาท)ตกไปอยู่ภายใต้การครอบครองของฝ่ายตรงข้าม เหลือเพียงแค่ภาพถ่ายขาวดำและภาพร่างต้นแบบเพียงบางส่วนของภาพชุด Faculty Paintings ดังกล่าว และความทรงจำของเหล่าผู้คน

สำหรับเพดานห้องโถงใหญ่มหาวิทยาลัยเวียนนา ปัจจุบันนี้ถูกประดับด้วยภาพ Triump of Light ของ Matsch ที่ถูกล้อมรอบด้วยภาพชุดดังกล่าวทั้งสี่ภาพในแบบขาวดำ เพื่อไว้เป็นอนุสรณ์และบทเรียนสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป โดย Theology ตัวจริงยังคงเหลือรอดและถูกเก็บรักษาไว้ในห้องคณบดีของ Faculty of Roman Catholic Theology แห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา (ที่มา: http://www.univie.ac.at/university/the-main-building-a-historic-centre/?L=2)

ผลงานภาพร่างต้นแบบของ Medicine โดย Klimt ที่พอจะหลงเหลือให้ได้ชมกัน
เล่าประวัติกันให้ฟังเพื่อให้เห็นความโหดร้ายของสงครามครับ ว่าสุดท้ายผู้ที่สูญเสียจริงๆไม่ใช่ฝ่ายชนะหรือฝ่ายแพ้สงคราม แต่กลับเป็นเหล่ามนุษยชาติทั้งมวล T_T ...เดี๋ยวบทความหน้าเราจะมาต่อกันในช่วงท้ายกับเกร็ดความรู้เพิ่มเติมและความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆที่แฝงมาในหน้าไพ่ทาโรต์ The Magician จากสำรับไพ่ชุด Golden Tarot of Klimt ใบนี้กันนะครับ ว่าเราจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำนายและการอ่านไพ่ได้อย่างไรกันบ้าง ;)

เพิ่มเติม อ่านบทความในช่วงที่สองของไพ่ทาโรต์ The Magician รวมถึงข้อมูลบางส่วนของไพ่เมเจอร์ The Chariot และ Judgement จากสำรับไพ่ทาโรต์ Golden Tarot of Klimt ชุดนี้

2 ความเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ถ้าไม่เก่งจริง แปลไพ่ไม่ออกแน่ ๆ เลย ค่ะ ดูรูปไพ่แล้วรู้สึกหนัก ๆ ไพ่ชุดนี้ท่าทาง ต้องใช้จิตที่เข้มแข็งจริง ๆ นะค่ะ ถึงจะสื่อกับภาพและวิญญาณไพ่ได้
อีกนานไหมน้อ กว่าจะดูไพ่ได้ เฮ้อ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

หากอ่านไพ่แบบนั้น ยิ่งใช้ยิ่งเครียดครับ แถมจะเหนื่อยด้วยครับ ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าการดูไพ่การอ่านไพ่ไม่จำเป็นต้องเครียดต้องแข็งขนาดนั้นหรอกครับ ค่อยๆปล่อยใจสบายๆ เหมือนเดินชมงานศิลปะจะดีกว่าครับ (เพียงแต่งานศิลปะบางอย่างชมนานไปดื่มด่ำไป ก็อาจอึดอัดเกินกว่าจะชมครบทั้งแกลอรี่ :P ก็ลองค่อยๆเดินห่างออกมา ..ก็เท่านั้นครับ ^_^)

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น