22 มกราคม 2555

ไพ่นกกระจอกพยากรณ์ - ๑ (Mah Jongg Oracle - 1/4)

เพื่อฉลองต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ปีมะโรงมังกรน้ำ 2555 คราวนี้เว็บบล็อก ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ในฐานะคนไทยเชื้อสายจีน ขอนำเสนอ "ไพ่จีน" ประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับการทำนายดวงชะตาพยากรณ์กันบ้าง

ศาสตร์ไพ่พยากรณ์ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะในชาติตะวันตก และชาติทางตะวันออกเองก็ไม่ได้เพิ่งจะมาตื่นตัวพัฒนาศาสตร์ด้านนี้ตามหลังชาติตะวันตกแต่อย่างใด ซึ่งชนชาติจีนได้พัฒนาศาสตร์ไพ่พยากรณ์เฉพาะขึ้นมาเป็นของตัวเอง และสืบทอดสั่งสมประวัติศาสตร์ความรู้ศาสตร์ทำนายเหล่านี้มาตลอดหลายร้อยหลายพันปีด้วยเช่นกัน ไม่แน่ด้วยว่าพื้นที่ประเทศจีนอาจเป็นจุดต้นกำเนิดของไพ่ต่างๆ ที่ใช้เล่นเกมส์ไพ่หรือพยากรณ์ไพ่กันอยู่ทุกวันนี้ก็ได้

ไพ่จีนอีกประเภทหนึ่ง กับความนิยมที่ลดลงไปเรื่อยๆ
ต่างไปจากไพ่นกกระจอกที่แพร่หลายแม้ในชาติตะวันตก
ก่อนหน้านี้ที่ผ่านๆมาหลายท่านอาจสังเกตเห็นในบทความก่อนๆ รวมทั้งพื้นที่ด้านข้างของเว็บบล็อกดร.เซ่ไพ่พยากรณ์ ที่จะมีลิงค์เรื่องราวและผลิตภัณฑ์น่าสนใจ เกี่ยวกับศาสตร์ไพ่จีนหรือไพ่ออราเคิลที่ประยุกต์ผนวกศาสตร์อี้จิง (I-Ching) เข้าไปด้วย อย่างเช่นที่นำมาทำนายเหตุการณ์ช่วง Supermoon เมื่อเร็วๆนี้ไป ซึ่งโอกาสต่อๆไปเราคงได้นำสำรับไพ่อี้จิงหรือไพ่ทาโรต์แฝงอี้จิงเหล่านี้มารีวิวหรือพูดคุยกันครับ ...แต่งวดนี้เราขอกล่าวแนะนำถึงไพ่จีน ซึ่งเป็นไพ่ในรูปแบบที่ได้พัฒนา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังคงนำมาเล่นเกมส์ไพ่กันอย่างจริงจัง นอกเหนือจากใช้พยากรณ์ (เช่นเดียวกันกับที่ไพ่ป๊อก Playing Cards ที่นำมาใช้ได้ทั้งการดูดวงหรือการเล่นเกมส์ไพ่) ซึ่งไพ่จีนที่ว่านั้น คงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก "ไพ่มาจอง" (อ่านว่า "มา-จอง" โดยเป็นการอ่านตามภาษาอังกฤษคำว่า Mah Jongg ซึ่งอาจสะกดเป็น Ma Jong, Mah Jong หรือเขียนติดกันเป็น Majong ก็ได้) โดยเพี้ยนจากเสียงคำอ่านของชื่อไพ่จีนประเภทนี้คำว่า 麻將 (má jiàng อ่านว่า "หม่า-เจียง", "หมา-เจี้ยง" หรือ "เหมาะ-เจี๊ยะ" ตามสำเนียงถิ่น) หรือที่บ้านเราแปลจากภาษาจีนและเรียกเป็นภาษาไทยว่า "ไพ่นกกระจอก" นั่นเอง

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจในแง่การพยากรณ์โดยใช้ไพ่ทำนาย (โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับไพ่นกกระจอก) คือ ไพ่มาจองออราเคิลชุดนี้มีจำนวนไพ่ถึง 144 ใบ!!! ตามจำนวนตัวไพ่นกกระจอกจีนมาตรฐาน... แต่เห็นจำนวนไพ่มากขนาดนี้อย่าเพิ่งตกใจไปครับ การใช้งานไพ่ออราเคิลชุดนี้ในการดูดวงทำนายนั้นไม่ยากอย่างที่คิดนะครับ ^_^


ต้นกำเนิดไพ่นกกระจอก (The Origin of Mah Jongg)

ขงจื๊อ (8 ปีก่อน พ.ศ.- พ.ศ. 64)
แม้จะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รับรองอย่างเป็นทางการ ว่ารากฐานของไพ่นกกระจอกก่อนที่จะพัฒนามาเป็นระบบและหน้าตาอย่างที่เราคุ้นๆกันอยู่ทุกวันนี้นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด
  • บางความเชื่อก็อ้างไปถึงว่ารากฐานดั้งเดิมของไพ่นกกระจอกนั้น เริ่มเล่นกันมาตั้งแต่สมัยช่วงเรือโนอาลอยลำตอนน้ำท่วมโลก
  • บ้างก็สืบสาวกันไปถึงการเริ่มคิดค้นกันตั้งแต่ช่วงรัชสมัยกษัตริย์วู (King Wu) แห่งราชวงศ์โจว (Chou หรือ Zhou Dynasty ระหว่าง 1046 - 256 ปีก่อนคริสตกาล)
  • บ้างกล่าวว่าต้นกำเนิดไพ่นกกระจอกนั้น เพิ่งจะมีหลักฐานชัดเจนเอาเมื่อช่วงต้นของราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty ช่วง ค.ศ. 1368-1644)
  • แต่หนึ่งในตำนานที่มักถูกอ้างถึงบ่อยๆนั้น กล่าวกันว่ารากฐานของไพ่นกกระจอกถูกคิดค้นเริ่มแรกโดย"ขงจื๊อ" (ขงจื้อ, ขงฟู่จื่อ ฯลฯ) นักปราชญ์ชาวจีน ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ช่วงห้าร้อยกว่าปีก่อนคริสตกาล ผู้วางรากฐานศาสตร์ความรู้และปรัชญาต่างๆแก่ชนชาติจีน ... พอทราบกันแบบนี้แล้ว ยิ่งทำให้เราคิดต่อไปได้ว่าหากเป็นตามนั้นจริง ท่านขงจื้อคงไม่ใช่คิดค้นไพ่นกกระจอกด้วยจุดประสงค์เพียงเพื่อเป็นเกมส์การละเล่นเพื่อฆ่าเวลาเป็นแน่ แต่อาจมีนัยยะแฝงไว้ในด้านพัฒนาความรู้และไหวพริบของชนในชาติ ทั้งด้านคำนวณ ตรรกศาสตร์ ฝึกทักษะความคิดความจำ อันจะมีส่วนช่วยในการบริหารสมองห่างไกลอัลไซเมอร์ตามงานวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบัน ...หรือจุดประสงค์หลักอาจเพื่อวิเคราะห์หรือพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆด้วยก็เป็นได้

เกริ่นกันมาเสียยาว เราคงขอละส่วนของประวัติความเป็นมาของไพ่นกกระจอกกันไว้แต่เพียงเท่านี้ และคงไม่กล่าวถึงกฎ-กติกาอะไรเกี่ยวกับการเล่นเกมส์ไพ่นกกระจอกกันให้มากความ แต่เราจะเน้นในเรื่องการทำนายพยากรณ์ตามวัตถุประสงค์หลักของเว็บบล็อกดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ โดยขอเริ่มต้นด้วยการรีวิวชุดคู่มือพร้อมสำรับไพ่นกกระจอกจีนสำหรับใช้ทำนายพยากรณ์กันครับ และต้องบอกก่อนว่าเป็นรีวิวจากมุมมองของผู้ที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับไพ่นกกระจอกเลยอย่างเจ้าของบล็อกเองเป็นต้น ;)

หมายเหตุ: แต่หลังจากได้ทดลองใช้และจับหลักได้แล้ว จะพบว่าไม่ยากเลยครับ ใช้งานพยากรณ์ได้ง่ายและแปลความหมายไพ่ได้ง่ายไม่แตกต่างจากการใช้ไพ่ออราเคิลแบบอื่นๆ ทั่วไป ยิ่งผู้ที่คุ้นกับไพ่ทาโรต์หรือไพ่ออราเคิลกันอยู่แล้ว ยิ่งไม่ต้องกลัวว่าจะยากครับ ดังนั้นทำใจสบายๆ แล้วค่อยๆอ่านรีวิวไพ่นกกระจอกจีนด้านล่างนี้กันไปได้ครับ ^_^)



ไพ่นกกระจอก ไพ่ทำนาย (Fortune Teller's Mah Jongg Cards)



Mah Jongg: The Oracle and the Game

ไพ่นกกระจอกเพื่อใช้ในการทำนายพยากรณ์ ที่เราจะแนะนำกันในบทความนี้มาจากชุดคู่มือพร้อมสำรับไพ่ที่เรียกว่า Mah Jongg: The Oracle and the Game โดย Derek Walters ซึ่งถูกจัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบที่เรียกว่า Book-In-A-Box ..ส่วนรูปแบบที่ว่านี้จะเป็นอย่างไรนั้น ค่อยๆดูกันไปนะครับ ;)

เดิมทีนั้นเราจะคุ้นหน้าคุ้นตาไพ่นกกระจอกกัน ในรูปแบบที่ผลิตโดยใช้วัสดุพลาสติกหนา (ประมาณ 2 เซนติเมตร) บ้างจะทำจากวัสดุประเภทไม้ไผ่ งาช้างหรือกระดูก หยก ฯลฯ ทว่าไพ่ออราเคิลชุดนี้เป็นไพ่นกกระจอกที่ถูกปรับเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบไพ่กระดาษขนาดกะทัดรัด โดยสัญลักษณ์ต่างๆของหน้าไพ่นกกระจอกยังคงอยู่ครบถ้วน แถมเพิ่มภาพวาดประกอบของความหมายไพ่ใบต่างๆเข้ามา เพื่อให้ใช้งานพยากรณ์ดูดวงทำนายต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยครับ


The Fortune Teller's Mah Jongg

ก่อนหน้านี้สำรับไพ่มาจองออราเคิลชุดดังกล่าวได้ถูกพิมพ์และจัดจำหน่ายในรูปแบบคล้ายกัน โดยเป็นชุดสำรับไพ่กระดาษเช่นกัน แต่มาพร้อมหนังสือคู่มือไพ่ที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ครับ (ในปี 2001) ในชื่อชุดว่า The Fortune Teller's Mah Jongg โดย Derek Walters เช่นกัน โดยมีรหัส ISBN: 1859060757 ตามลิงค์อะมาซอนด้านล่างนี้ครับ
  • โปรดระวัง!!! ถ้าเป็นเลขรหัส ISBN อื่น อาจเป็นหนังสืออย่างเดียว ไม่มีสำรับไพ่นกกระจอกแถมมาด้วยครับ
  • จากการสอบถามพบว่าคุณภาพไพ่นกกระจอกของชุดนี้ แทบจะไม่ต่างกันกับไพ่นกกระจอกที่มากับชุด Book-In-A-Box ที่นำมารีวิวด้านล่างนี้ เพียงแต่ชุดดั้งเดิมขนาดไพ่จะยาวกว่าแค่ประมาณ 1-2 มิลลิเมตรเท่านั้น โดยมีขนาดความกว้างไพ่เท่ากัน อีกทั้งในชุดดั้งเดิมนั้น สีภาพหน้าไพ่จะออกซีดกว่าไพ่นกกระจอกชุด Book-In-A-Box ที่เรานำมารีวิวด้วยครับ
  • แม้ว่าขนาดหนังสือในชุด Book-In-A-Box จะเล็กกว่าชุดดั้งเดิม ทว่าเนื้อหาภายในหนังสือคู่มือไพ่ไม่แตกต่างกันครับ ... และแน่นอนว่าชุดดั้งเดิมย่อมเทอะทะกว่า หากจะพกพาไปด้วยกันทั้งหมดครับ ;)


เปิดกล่องมาจองออราเคิล ไพ่นกกระจอกพยากรณ์ Mah Jongg: The Oracle and the Game (Book-In-A-Box Edition)


คุณลักษณะภายนอกบรรจุภัณฑ์ไพ่นกกระจอกพยากรณ์

  • ขนาดกล่องไพ่ ตามชื่อเวอร์ชั่นของไพ่ออราเคิลชุดนี้ ทั้งคู่มือและสำรับไพ่นกกระจอกทั้งหมดนั้น ถูกบรรจุไว้ภายในกล่องลูกบาศก์ขนาด 9.4 x 9.4 x 9.4 เซนติเมตร
  • ตัวกล่องบรรจุภัณฑ์ทำจากกระดาษแข็ง มีความแข็งแรงทนทานมาก ภายนอกกล่องจะเคลือบมัน โดยลวดลายรอบๆตัวกล่องซึ่งนำมาจากภาพหน้าไพ่ ถูกจัดวางได้สวยงามมากเช่นกัน ชอบมากตรงที่ภาพลวดลายบริเวณช่วงรอยต่อปิดเปิดทางด้านของกล่อง สามารถประกบกันได้พอดี
ด้านล่างกล่องไพ่นกกระจอกพยากรณ์
(คลิกที่รูปเพื่อขยาย)
  • ด้านหน้ากล่องระบุชื่อสำรับ Mah Jongg: The Oracle and the Game โดย Derek Walters และจะมีคำโปรยรอบๆตัวกล่อง ถึงสิ่งที่เราจะพบภายในตัวกล่อง ได้แก่
    • Fortune-telling cards (ด้านบน); ไพ่ทำนาย
    • Ancient Chinese signs and symbols (ด้านข้าง); เครื่องหมายและสัญลักษณ์จีนโบราณ
    • Play Mah Jongg with cards (ด้านข้าง); เล่นเกมส์ไพ่นกกระจอกด้วยไพ่(กระดาษ)
    • Answers every question (ด้านหลัง); คำตอบสำหรับทุกคำถาม
  • ด้านล่างของตัวกล่องเป็นพื้นหลังสีดำ ประกอบด้วยคำโปรย รายละเอียดและภาพขนาดเล็กระบุสิ่งที่บรรจุภายในกล่อง พร้อมรหัสบาร์โค้ดและ ISBN

สิ่งที่บรรจุภายในกล่องสำรับไพ่

  • คู่มือประจำสำรับไพ่มาจองออราเคิล ความหนา 256 หน้า
  • ไพ่นกกระจอก (กระดาษ) จำนวน 144 ใบ พร้อมไพ่แถม (หน้าไพ่ว่าง) สำหรับใช้ทดแทนในกรณีไพ่นกกระจอกใบใดใบหนึ่งสูญหาย จำนวน 3 ใบ

การบรรจุไพ่นกกระจอกพยากรณ์

เมื่อเปิดกล่องจะพบคู่มือและตัวสำรับไพ่นกกระจอกถูกจัดวางอยู่ภายในอย่างสวยงาม โดย
  • การเปิดและปิดตัวกล่องชุดไพ่ทำได้ค่อนข้างดี แถมลักษณะการซ้อนกล่องเป็นสองชั้นในขณะปิด ยังช่วยให้ตัวกล่องมีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น แถมช่วยกระชับไม่ให้ฝากล่องเลื่อนเปิดปิดเอง ซึ่งแม้บริเวณตรงจุดพับของฝากล่องจะดูไม่ค่อยแข็งแรง แต่ก็สามารถเปิดปิดซ้ำๆกันได้ดีระดับนึง โดยที่ตัวฝาพับไม่สามารถเปิดได้จนสุด (โปรดดูรูปประกอบ)
เปิดกล่องไพ่มาจองออราเคิล.. สวยงามครับ
  • ตัวสำรับไพ่ออราเคิลถูกจัดแบ่งเป็นสามกองซ้อนเหลื่อมกัน บรรจุอย่างสวยงามภายในกล่องพลาสติกใสซ้อนกันสองชั้น ซึ่งค่อนข้างยวบยาบเล็กน้อย แต่เมื่อแกะออกมาแล้วสามารถนำมาใช้ซ้ำได้อีกเรื่อยๆครับ โดยสามารถใช้เก็บสำรับไพ่(และหนังสือคู่มือ)ไม่ให้เคลื่อนไปมา
  • คู่มือประจำสำรับไพ่ออราเคิลชุดนี้ เสียบอยู่ด้านข้างตัวกล่องพลาสติกใส จัดวางได้พอดีกระชับตัวกล่อง ไม่เคลื่อนไปมา

ศาสตร์ทำนายด้วยไพ่มาจองดูแล้วน่าสนใจและมีเสน่ห์ไม่น้อยเลยใช่มั้ยครับ :) ช่วงต่อไปของรีวิวไพ่มาจองออราเคิล (Mah Jongg Oracle) จะกล่าวถึงในส่วนของหนังสือคู่มือประจำสำรับไพ่ ชมความงามและทดสอบคุณภาพของสำรับไพ่นกกระจอกชุดนี้ พร้อมทดลองทำนายดูดวงโดยใช้ไพ่ออราเคิลชุดนี้กันนะครับ


เพิ่มเติมบทความไพ่มาจองออราเคิลที่เกี่ยวข้อง

2 ความเห็น:

Peterito กล่าวว่า...

เมื่อปีที่แล้วไปเดินคิโนพารากอน เจอไพ่ชุดนี้วางขายอยู่ สวย แปลก บวกกัยราคาไม่แพงเท่าไรนัก เลยตัดสินใจถอยออกมาเลย ทั้งๆที่คิดว่าคงไม่ได้นำมาใช้และคงใช้ไม่เป็นแน่ๆ ดีจังเลยที่คุณ HE เขียนเรื่องเกี่ยวกับไพ่ชุดนี้ลงในนี้นะครับ อย่างน้อยผมก็คงได้ทำความรู้จักกับไพ่ชุดนี้มากขึ้น

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ (Dr Zei Tarot Card) กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ ได้แบ่งรีวิวไพ่มาจองออราเคิลเป็นสี่ตอนสั้นๆ เพื่อจะให้อ่านง่ายและได้แทรกเกร็ดความรู้อย่างอื่น โดยตอนท้ายมีวิธีใช้แบบง่ายๆด้วยครับ

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น