12 ธันวาคม 2554

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (Marvel of Teaching)

บทความนี้เรียบเรียงขึ้น เพื่อตอบความเห็นในเรื่อง เซียมซีพุทธ อนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ ต้องขอขอบพระคุณท่านที่ "ไม่ระบุชื่อ" ด้วยนะครับ ที่แสดงความเห็นด้วยเจตจำนงที่ดีเข้ามา ทำให้ผมได้มีโอกาสรวบรวมข้อมูลมาแสดงให้ได้เข้าใจกัน (เท่าที่ความสามารถและทรัพยากรอันจำกัดของผมพอจะทำได้นะครับ) เพราะน่าจะมีผู้ที่เข้าใจความหมายของคำว่า "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" คลาดเคลื่อนและไม่ชัดเจนอยู่อีกมาก รวมทั้งความเข้าใจผิดในเรื่องศาสตร์พยากรณ์และพุทธศาสนาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ด้วยหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากครับ (ทว่าต้องกำกับด้วยว่าเป็นเพียงความเห็นอีกหนึ่งมุมมอง ไม่ใช่ข้อสรุปหรือข้อตัดสิน แต่กระนั้นผมได้แนบแหล่งข้อมูลไว้อ้างอิงและสืบค้นต่อเพื่อประกอบการพิจารณาไว้ด้วยเช่นกัน)


ส่วนไพ่ทาโรต์ออกใหม่ปลายปี 2554 กลางปี 2555 ตอน 2 ..ท่านใดที่กำลังรอติดตามบทความดังกล่าว โปรดอดใจรอนิดนึงนะครับ :)


พุทธธรรมกับศาสตร์พยากรณ์

ก่อนจะกล่าวถึงเรื่อง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ และเซียมซีพุทธ ขอกล่าว(ตามความเห็นส่วนตัว) เพื่อปรับความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานทั่วๆไปกันก่อนนะครับ

  • ขอย้ำจุดยืนไว้ชัดเจนตรงนี้อีกครั้งว่า (จรรยาบรรณและจริยธรรม ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์) ผมเองไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนใครหรือองค์กรใด ที่บิดเบือนพระสัทธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่เห็นด้วยกับเหล่านักพยากรณ์บางท่านที่ทำนายทายทักเชิงหลอกลวง ซึ่งแทนที่จะให้คำแนะนำที่จรรโลงศีลธรรม แต่กลับหลอกให้สะเดาะเคราะห์อย่างเกินจริง ขาดจรรยาบรรณวิชาชีพ หรือให้คำแนะนำในทางผิดศีลผิดธรรม จนทำให้วงการพยากรณ์ตกต่ำ กลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์ความงมงาย
  • ส่วนเรื่องพระพุทธศาสนาและศาสตร์พยากรณ์ ที่เหมือนว่าจะไปด้วยกันไม่ได้นั้น หากใครได้ศึกษาจริงอย่างถ่องแท้ทั้งสองด้าน จะทราบดีว่า
    • พุทธศาสน์กับพยากรณ์ศาสตร์ ล้วนกลมกลืนไปกันได้ ไม่ต่างอะไรกับศาสตร์อื่น เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ ฯลฯ ที่ผู้ประกอบอาชีพด้วยศาสตร์เหล่านี้ก็นับว่าเป็นคนพุทธและปฏิบัติธรรมควบคู่ไปได้ ไม่เบียดบังเวลาทำงาน (ถ้ามีเวลาหายใจ ย่อมมีเวลาปฏิบัติ)
    • กล่าวอีกนัยยะหนึ่ง ก็คือไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลยก็ได้ เช่น ฟิสิกส์ก็เรื่องหนึ่ง เคมีก็เรื่องหนึ่ง พยากรณ์ก็เรื่องหนึ่ง พุทธศาสน์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะเรียนรู้ศึกษาควบคู่ไปด้วยกันไม่ได้
  • ด้วยเราควรตระหนักว่า ศาสตร์พยากรณ์นั้นก็เหมือนดังศาสตร์อื่นทั่วไปเหล่านั้น ที่เป็นเพียงเครื่องมือหรือแผนที่ช่วยในการดำรงชีพ แต่ไม่ใช่สรณะให้คอยยึดถือ และเราเองที่ต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเส้นทาง อันเป็นไปตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่ถูกสืบทอดโดยพระภิกษุสงฆ์สาวก ที่เราสมควรยกไว้เป็นสรณะสูงสุด (ยกตัวอย่างบางคนกลับไปยกฟิสิกส์เป็นสรณะ ไปยกวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ แล้วมองข้ามพุทธศาสน์ไป นั่นย่อมไม่สมควรเช่นกัน)

ความเข้าใจผิดในศาสตร์พยากรณ์

เหล่าผู้คนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะผู้นับถือพุทธแบบสุดโต่ง แต่ขาดความเข้าใจหรือขาดการพิจารณาโดยรอบคอบ หรือสักแต่จำๆตามๆกันมา โดยแม้พระไตรปิฎกซักหน้ายังไม่เคยเปิดอ่าน) มักเข้าใจผิดบ่อยๆว่า โหราศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์ต่างๆ เป็นเรื่องงมงาย เป็นเดรัจฉานวิชาคือขวางทางมรรคผลนิพพาน ไม่สมควรศึกษา บางทีก็อ้างถึงพระไตรปิฏกไปอย่างลอยๆก็มี .. แต่อยากจะบอกตรงนี้ พร้อมข้อมูลอ้างอิงตามเนื้อหาที่ปรากฏจริงในพระไตรปิฎก ว่าอย่าเหมารวมไปเสียทั้งหมด เพราะ
  • อาชีพต้องห้ามในทางพระพุทธศาสนา ในระดับปุถุชน มี 5 อย่างคือ ค้าสุรา ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้าอาวุธ และค้าสัตว์มีชีวิต(เพื่อนำไปฆ่า) ที่มา วณิชชสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=4838&Z=4843 หรือ http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มิจฉาวณิชชา
  • แต่หากเป็นภิกษุ อาชีพต้องห้าม ไม่ต้องนับไปไกลถึงเรื่องหมอดูหรือโหราศาสตร์ครับ เพราะว่า
    • แม้เป็นหมอรักษาโรค สถานเสาวภา กรมอุตุนิยมวิทยา นักดาราศาสตร์ นักกวี นักคณิตศาสตร์ สูตินารีแพทย์ หมอผ่าตัด(แปลงเพศ) ศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ เภสัชกร นักกฎหมาย ฯลฯ ศาสตร์เหล่านี้ก็ล้วนจัดเป็นติรัจฉานวิชาด้วยกันทั้งสิ้น (คือ หมายเอาวิชาที่ขวางทางสวรรค์ทางนิพพาน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ธรรมปฏิบัติ ที่มุ่งตรงเพื่อออกจากทุกข์)
    • แม้การพูดจากล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ ตลอดจนเรื่องสัพเพเหระการบันเทิง หรือเหตุการณ์บ้านเมืองทั่วไป ก็จัดเป็นติรัจฉานกถาเช่นกัน (เพราะเป็นถ้อยคำที่ขวางทางสวรรค์และทางนิพพาน เพราะไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้ออกไปจากทุกข์)
    • ที่มา ติรัจฉานวิชา และ ติรัจฉานกถา จาก พรหมชาลสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=09&A=0&Z=1071
  • เพิ่มเติม ข้อมูลจากกระทู้พันทิปห้องศาสนา
    • สมเด็จพระสังฆราชฯ ของประเทศไทย อย่างน้อย 3 พระองค์ ทรงมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ๑. สมเด็จพระสังฆราช กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ๒. สมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศน์ ๓. สมเด็จพระสังฆราช อยู่ วัดสระเกศ
    • ท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี (ป.ธ.๙ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ท่านกล่าวเอาไว้ว่า "ถ้าเอาคำจำกัดความว่า ติรัจฉานวิชชาคือ วิชชาที่ขวางต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เณรเรียนนักธรรมบาลีก็เข้าเกณฑ์นี้ทั้งนั้น"
ดังนั้นโปรดพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ รวมทั้งสถานะของผู้ใช้ผู้ศึกษา เจตนาและเป้าหมายว่าเพื่อการณ์ใด เช่น เป็นเครื่องมือเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือ เพื่อชักนำสู่พุทธธรรม เพื่อหาเลี้ยงชีพทั่วไปตามสมควร เพื่อลาภสักการะ เพื่อหลอกลวงต้มตุ๋น ฯลฯ และอย่างใดควรตำหนิหรือควรวางใจอย่างไร ...รายละเอียดคงว่ากันยาว หากมีโอกาสคงได้ขยายความเพิ่มมากขึ้น ในเบื้องต้นขอละไว้ในฐานที่เข้าใจแต่เพียงเท่านี้



อนุสาสนีปาฏิหาริย์


เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์: ชื่อหนังสือ

  • ระบุก่อนว่าผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับทางวัดพระธาตุผาแก้ว ไม่ได้เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำเซียมซีพุทธ เพียงแต่ช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวการจัดพิมพ์ ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นกุศล ทั้งในวงการพยากรณ์และในแวดวงสังคมทั่วไป และที่สำคัญคือเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อพระพุทธศาสนาและชาวไทย
  • คำว่า "เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์" เป็นชื่อหนังสือพร้อมสำรับไพ่ โดย อาจารย์อำนาจ กลั่นประชา (หรือพระครูอำนาจ โอภาโส ในปัจจุบัน) ...หาใช่ผมเป็นคนตั้งชื่อนี้แต่อย่างใด (โปรดอ่าน ความเป็นมาเซียมซีพุทธ เพิ่มเติมในหัวข้อด้านล่างของบทความนี้)
  • เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ได้รับการจัดพิมพ์ภายใต้ชื่อเต็มดังกล่าว ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 แล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเอาตอนนี้ อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมวงกว้าง ทั้งได้รับการประชาสัมพันธ์ในสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ต่างๆ หากใครหรือท่านใดเห็นว่าไม่เหมาะสม ควรรีบแจ้งคณะทีมงานผู้จัดทำตั้งแต่ตอนนั้น อย่างไรก็ตามผมเองไม่ทราบข่าวว่ามีนักศาสนาต่างๆในยุคนั้นได้ออกมาคัดค้านหรือไม่ ทว่าเมื่ออ่านประวัติความเป็นมาบางส่วน ทั้งท่านพุทธทาส, อาจารย์ ส.ศิวลักษณ์, ศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล ฯลฯ ก็ล้วนให้การสนับสนุนหนังสือพร้อมไพ่เซียมซีพุทธชุดนี้เป็นอย่างดี
  • เนื้อหาภายในและคำอธิบายไพ่แต่ละใบ เป็นคำอธิบายหลักธรรมล้วนๆ แทบจะไม่เกี่ยวกับการพยากรณ์ใดๆ โปรดศึกษาหรือลองอ่านตัวอย่างภายในเล่มจากรูปที่แนบภายในบทความ เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ก่อนวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ครับว่า ตรงตามคำว่า "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" หรือไม่ (โปรดอ่านข้อมูลในหัวข้อด้านล่างของบทความนี้ประกอบ)
  • หากข้อมูลยังไม่ชัดเจน โปรดรอตรวจสอบจากหนังสือเล่มจริงที่กำลังจะตีพิมพ์ออกมา หรือเมื่อตรวจสอบแล้วยังเห็นข้อบกพร่องใด หรือชื่อหนังสือยังไม่ถูกใจ โปรดสอบถามไปยังทางคณะผู้จัดทำหรือทางวัดโดยตรง เพื่อไขความข้องใจให้กระจ่าง


ความหมาย: อนุสาสนีปาฏิหาริย์


ก่อนอื่นลองมาทำความเข้าใจกับคำนี้กันก่อนครับ
สาสนี แปลว่า คำสั่งสอน
อนุ ไม่ได้แปลว่า เล็ก อย่างเดียว แต่แปลได้ว่า ตาม, น้อย, ภายหลัง, เนืองๆ (พจนานุกรม เปลื้อง ณ นคร)
อนุสาสนี ในที่นี้จึงไม่ได้แปลว่า คำสั่งสอนเล็กๆ แต่ควรแปลว่า คำสั่งสอนที่ทำตามได้ หรือคำสั่งสอนที่ยกขึ้นซ้ำๆเนืองๆ ยกตัวอย่างคำว่า อนุชน แปลว่า ชนรุ่นหลัง ไม่ใช่ ชนตัวเล็กๆ หรือยกตัวอย่างอีกคำในพระไตรปิฎกเลยแล้วกันครับ จะได้ไม่กังวลว่าเป็นเฉพาะคำศัพท์ในภาษาไทยรึเปล่า เช่น อนุพุทธะ ไม่ได้แปลว่า ผู้รู้เล็กๆ แต่แปลว่า ผู้รู้ตาม เป็นต้น
  1. ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความหมายไว้ว่า (ขอยกมาให้ครบเพื่อให้สามารถนำไปใช้อ้างอิงกันต่อไป)
    ปาฏิหาริย์ 3 (การกระทำที่กำจัดหรือทำให้ปฏิปักษ์ยอมได้, การกระทำที่ให้เป็นอัศจรรย์, การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ — marvel; wonder; miracle)
    1. อิทธิปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์, แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ — marvel of psychic power)
    2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คือการทายใจ, รอบรู้กระบวนของจิตจนสามารถกำหนดอาการที่หมายเล็กน้อยแล้วบอกสภาพของจิต ความคิด อุปนิสัยได้ถูกต้อง เป็นอัศจรรย์ — marvel of mind-reading)
    3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คืออนุศาสนี, คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์ — marvel of teaching)
    ใน 3 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์ และสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ว่าเป็นเยี่ยม
  2. ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า
    อนุสาสนีปาฏิหาริย์ : น. การสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึง คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมเชื่อถือไปตามได้อย่างน่าอัศจรรย์, เป็นปาฏิหาริย์อย่าง ๑ ในปาฏิหาริย์ ๓ ได้แก่ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
  3. ตามพจนานุกรม เปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายไว้ว่า
    อนุสาสนี [อะ-นุ-สา-สะ-นี] (มค. อนุสาสนี; สก. อนุศาสนี) น. อนุศาสนี, คำสั่งสอน, คำสอนเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องยกขึ้นสอนกันซ้ำๆ ซากๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ.
  4. พระไตรปิฎก เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นขอยกเนื้อหาบางส่วนจากพระไตรปิฎกมาโดยตรง จาก เกวัฏฏสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=7317&Z=7898
    [๓๔๑] ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำ สอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าทำในใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด นี้เรียกอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
    ...
    ..
    ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้ก็เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์.
    ...
    ..(จากจุลศีล มัชฌิมศีล .. สำรวมอินทรีย์ ..เจริญสติ สมาธิ วิปัสสนา..ไล่ไปจนสำเร็จพระอรหันต์ โปรดดูความเต็มตามลิงค์ด้านบน) ...
    จากจุดนี้ทำให้ทราบได้ว่า ไม่ว่าจะคำสอนแบบใด(สาสนี) ที่เมื่อปฏิบัติตามหรือพร่ำสอน(อนุ) เพื่อให้บุคคลได้พัฒนามุ่งสู่ความหลุดพ้น จะเพียงขั้นระดับเริ่มต้น เช่น เรื่องศีล จนถึงขั้นกลางหรือขั้นปลาย ก็ล้วนชื่อว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ทั้งสิ้น
  5. ตามในอรรถกถาเกวัฏฏสูตร http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=338 ได้ขยายความในส่วนด้านบนนี้ไว้ว่า
    อนุสาสนีปาฏิหาริยวณฺณนา
    บทว่า ท่านทั้งหลายจงตรึกอย่างนี้ คือ ตรึกให้เป็นไปทาง เนกขัมมวิตกเป็นต้น.
    บทว่า อย่าตรึกอย่างนี้ คือ อย่าตรึกให้เป็นไปทางกามวิตกเป็นต้น.
    บทว่า จงทำในใจอย่างนี้ คือ ทำในใจถึงอนิจจสัญญา หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในทุกขสัญญาเป็นต้นอย่างนี้.
    บทว่า อย่า ... อย่างนี้ คือ อย่าทำในใจโดยนัยเป็นต้นว่า เป็นของเที่ยง ดังนี้.
    บทว่า จงละสิ่งนี้ คือ จงละความกำหนัดอันเคลือบด้วยกามคุณนี้.
    บทว่า จงเข้าถึงสิ่งนี้ อธิบายว่า จงเข้าถึง คือบรรลุ สำเร็จ โลกุตตรธรรม อันได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นี้แลอยู่.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงฤทธิ์ต่างๆ ชื่ออิทธิปาฏิหาริย์.
    การรู้จิตของผู้อื่น แล้วพูด ชื่ออาเทศนาปาฏิหาริย์.
    การแสดงธรรมเนืองๆ ของพระสาวกและของพระพุทธเจ้า ชื่ออนุสาสนีปาฏิหาริย์.
    ซึ่งจุดนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงการแสดงธรรมโดยพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงพระสาวกด้วย
  6. ส่วนอย่างไรเรียกว่าธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น โปรดพิจารณาตามหลักตัดสินพระธรรมวินัย
    หลักตัดสินธรรมวินัย หรือลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ อย่าง คือ
    ก. ธรรมเหล่าใด เป็นไป
    ๑. เพื่อความย้อมใจติด
    ๒. เพื่อความประกอบทุกข์
    ๓. เพื่อความพอกพูนกิเลส
    ๔. เพื่อความมักมากอยากใหญ่
    ๕. เพื่อความไม่สันโดษ
    ๖. เพื่อความคลุกคลีในหมู่
    ๗. เพื่อความเกียจคร้าน
    ๘. เพื่อความเลี้ยงยาก,
    ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์,

    ข. ธรรมเหล่าใดเป็นไป
    ๑. เพื่อความคลายหายติด
    ๒. เพื่อความไม่ประกอบทุกข์
    ๓. เพื่อความไม่พอกพูนกิเลส
    ๔. เพื่อความมักน้อย
    ๕. เพื่อความสันโดษ
    ๖. เพื่อความสงัด
    ๗. เพื่อการประกอบความเพียร
    ๘. เพื่อความเลี้ยงง่าย,
    ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์
  7. ที่มา จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ โดยอิงตาม
    • สังขิตตสูตร อุโปสถวรรคที่ ๕ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=5908&Z=5933
    • ลักษณะวินิจฉัยพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=7&item=523
  8. เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
    • เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ทรงยกย่องปาฏิหาริย์สองข้อก่อนหน้า เพราะผู้ไม่มีศรัทธา ก็ย่อมไม่มีศรัทธา สามารถหาข้อโต้แย้งถกเถียงได้ แต่ปาฏิหาริย์ข้อสุดท้ายนั้น เมื่อแสดงแล้ว ย่อมทำตามได้ พิสูจน์ได้ ถกเถียงขัดแย้งไม่ได้ว่าเป็นการใช้มายากลหรือเวทมนตร์คาถา เช่นนี้จึงเรียกได้ว่า เป็นความอัศจรรย์อย่างแท้จริงของพระสัทธรรม (อนุสาสนีปาฏิหาริย์) โดยมีเนื้อความตามอรรถกถาที่ยกมาด้านล่างนี้
      ในปาฏิหาริย์เหล่านั้น อิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ ยังติเตียนได้ ยังมีโทษ ไม่ยั่งยืนอยู่นาน เพราะไม่ยั่งยืนอยู่นาน จึงไม่นำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้.
      อนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้นไม่ติเตียนได้ ไม่มีโทษ ตั้งอยู่ได้นาน เพราะตั้งอยู่ได้นาน จึงนำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้.
      เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงติเตียนอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างเดียว.
    • แต่กระนั้นเราๆ ท่านๆ ไม่ควรดูแคลนอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ เพราะในบางโอกาสกับบุคคลบางจำพวก พระพุทธเจ้าและพระสาวกเองก็ใช้อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นเครื่องประกอบ เพื่อนำไปสู่อนุสาสนีปาฏิหาริย์ที่เป็นเป้าหมายหลัก เช่น ในคราวโปรดพระภิกษุสาวกที่เชื่อตามพระเทวทัต พระสารีบุตรใช้อาเทศนาปาฏิหาริย์ควบกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์จนภิกษุเหล่านั้นบรรลุโสดาบัน และ พระโมคคัลลานะใช้อิทธิปาฏิหาริย์ควบกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์จนภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหันต์ เป็นต้น (จากอรรถกถาเกวัฏฏสูตร)
  9. ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) แห่งวัดญาณเวศกวัน ท่านได้แจกแจงไว้อย่างน่าอ่าน เป็นลักษณะถาม-ตอบตามลำดับขั้นตอน พร้อมหลักฐานตามพระไตรปิฎกครับ ..ข้อมูลบางส่วนที่อธิบายด้านบนนี้ก็คัดตัดตอนมาจากหนังสือดังกล่าว (คลิกชื่อหนังสือด้านล่าง เพื่อดาวน์โหลดเป็น PDF)

สรุปอนุสาสนีปาฏิหาริย์

ดังนั้นหากศึกษาทั้งพระสูตร จะทราบชัดว่า แม้เพียงผมหรือใครก็ตามจะกล่าวเพียงว่า "อย่าฆ่าสัตว์เลย" "อย่าโกหกเลย" "มารักษาศีลกันนะ" หรือ "อย่าไปโกรธเขาเลย เมตตากันไว้เถอะ" ไล่เรื่อยไปถึงเรื่องสมาธิ ฌาน เจริญสติ ฯลฯ เพียงวลีสั้นๆเท่านี้ ที่ล้วนเป็นคำสอนให้เขาละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มุ่งตรงสู่พระนิพพาน ใครทำตามแล้วย่อมเห็นผลจริง นั่นก็เรียกได้ว่าเป็น "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" แล้วครับ

กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่หมายถึงดูแคลนพุทธธรรมหรือปาฏิหาริย์ประเภทนี้ว่าเป็นของง่ายนะครับ แต่ยกย่องเทิดทูนเหนือเกล้า เพราะลองคิดดูเถิดครับว่าในยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนานั้น คำกล่าวสั้นๆเพียงนี้จะมีคุณค่าเพียงใด และที่สำคัญคือ "ปฏิบัติตามแล้วเห็นผล" ไม่อาจโต้แย้งใดๆได้ จึงถือเป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่งของพระธรรมคำสอน หรือเรียกตามศัพท์ว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ นั่นเอง

ซึ่งเมื่อวลีสั้นๆดังกล่าวยังนับว่าเป็น อนุสาสนีปาฏิหาริย์ จะกล่าวไปไยกับหนังสือเซียมซีพุทธทั้งเล่ม อันเรียบเรียงประกอบด้วยถ้อยคำอันเป็นประโยชน์ ซึ่งล้วนแต่ชักจูงนำไปสู่โลกุตตรธรรมเช่นนี้ ที่เรียกได้เต็มปากได้เลยว่า คือ หนังสือธรรมะที่ดีเล่มหนึ่ง ซึ่งประพันธ์โดยอุบาสกพุทธสาวก (หรือพระสุปฏิปันโนในปัจจุบัน) เพราะแม้เพียงตัวอย่างบางหน้าที่ยกมาและในบทความก่อน คงเห็นแล้วว่า ล้วนแต่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อความไม่พอกพูนกิเลส เป็นไปเพื่อประกอบความเพียร ฯลฯ อันลงกันได้กับหลักตัดสินพระธรรมวินัย
ตัวอย่างเนื้อหา แพ้เพื่อชนะ Lose To Win หรือไพ่ทาโรต์ห้าดาบ
ที่ให้แง่คิดคำสอนในการรู้จักให้อภัย


สรุปอนุสาสนีปาฏิหาริย์และการพยากรณ์

สรุปโดยส่วนตัวแล้วจึงถือว่า "เซียมซีพุทธ" เล่มนี้ จะมีคำต่อท้ายว่า "อนุสาสนีปาฎิหาริย์" ก็คงไม่แปลกอะไร หากหนังสือเล่มนั้นได้กล่าวถึง "ธรรมะ"

โปรดอย่ารีบด่วนตั้งแง่ทันที แค่เพียงเพราะได้ยินได้อ่านว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องพยากรณ์แล้วต้องผิดหมด ห้ามเกี่ยวข้องกับพุทธ ทั้งๆที่ยังไม่เคยพิจารณาอ่านเนื้อหาใดๆ ภายในเล่มเลย เพียงแต่จากนี้อาจต้องทดลองพิสูจน์ ตรวจสอบ และศึกษาด้วยตนเอง (ก่อนวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ) ว่า คำสอนใดๆที่ระบุในหนังสือเล่มนี้นั้น สามารถเทียบเคียงว่าอ่านแล้วสามารถปฏิบัติตามได้และเห็นผลจริงตามพุทธพจน์หรือไม่ คือ เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความหลุดพ้น ฯลฯ ตามข้อตัดสินธรรมวินัยที่ยกมาในเบื้องต้นหรือไม่ และที่สำคัญคือต้องให้เวลาในการทดลองพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตนเองอย่างถ่องแท้ด้วยครับ ไม่ใช่แค่ 1-2 วัน แล้วคุณจะทราบถึงความอัศจรรย์ในธรรมะของพระพุทธเจ้าครับ _/|\_

ส่วนในแง่ของการพยากรณ์ หากมองในแง่การใช้งานไพ่เซียมซีพุทธให้เป็นตามหลักพุทธแล้ว คงไม่ขอฝืนหรือเปลี่ยนความคิดท่านใด แต่ขอกล่าวเพียงสั้นๆว่า ให้ทดลองเรียนรู้ด้วยตัวคุณเองก่อน เพราะนี่ไม่ใช่มายากล ไม่ใช่เรื่องงมงาย ไม่ใช่ไสยศาสตร์ แต่เป็นเพียงเหตุและปัจจัย ตามหลักการทางพุทธล้วนๆ ที่ส่งผลให้คุณเลือกจับได้กระดาษ(หรือในที่นี้จะเรียกว่า ไพ่ ก็ได้)ที่มีบันทึกหมวดหัวข้อธรรม ที่โยงไปกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่รวบรวมไว้ภายในหนังสือคู่มือเล่มดังกล่าว ซึ่งจะตรงกับความรู้สึกคุณ ณ ขณะนั้น หรือหากใครยังไม่เชื่อไม่วางใจแม้ในแง่พุทธศาสน์ด้วย คุณจะมองเป็นแง่วิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยาเบื้องต้นง่ายๆแทนก็ได้ เช่นว่า ความรู้สึกหรือจิตใต้สำนึกเราทำให้ดึงดูดจับได้ไพ่ใบนั้นๆออกมา เป็นต้น

และต้องอย่าลืมด้วยว่า ผู้คนนั้นหลากหลาย การมุ่งตรงเข้าสู่อนุสาสนีปาฏิหาริย์เลยย่อมเป็นเรื่องที่ดีแน่ แต่บางครั้งและบางคนอาจต้องหาหลักยึดไว้ให้ก่อน ต้องคอยปลอบประโลมสร้างกำลังใจกันก่อน จึงจะพอนำเสนอคำสอนที่เป็นจริง ถูกต้องตามหลักกรรมและหลักธรรม ปฏิบัติตามแล้วพบความจริงแห่งการพ้นทุกข์เป็นที่น่าอัศจรรย์นั้นได้ (อนุสาสนีปาฏิหาริย์)

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใด หรือจะมีอคติดูแคลนมองเรื่องศาสตร์การพยากรณ์ว่าเป็นจำพวกเดียวกับกรณีพวกที่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เครื่องรางของขลัง หรือแม้ในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ ก็ล้วนคงยังสมควรต้องยึดหลักวินิจฉัยเดียวกันคือ ไม่ใช่ให้ผู้อื่นหรือตนเองหลงมัวเมาหมกมุ่นในสิ่งฉาบฉวยเหล่านั้น แต่ควรเป็นไปด้วยเจตนาที่มุ่งเข้าสู่ประเด็นหลัก คือ การชักจูงผู้คนเข้าสู่อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีปัญญา รู้และเข้าใจความจริงความดีงามที่ควรประพฤติปฏิบัติ พัฒนาตนจนเป็นอิสระอย่างแท้จริงจากกิเลสและสิ่งถือมั่นทั้งปวง (conditioned things) อันเป็นเป้าหมายหลักของ เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เล่มนี้ และยังเป็นแนวทางปฏิบัติและเป้าหมายของทางเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ นี้ด้วยเช่นกัน.. ขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ :)



เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์: ความเป็นมา

เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับท่านที่สนใจประวัติความเป็นมา "เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์"

ทำไมถึงมาทำเซียมซีพุทธ

เป็นบันทึกท้ายเล่ม จากหนังสือ "เซียมซีพุทธ อนุสาสนีปาฏิหาริย์" เขียนโดยอาจารย์อำนาจในสมัยนั้น ขอยกมาเพื่อให้ทราบแนวคิดที่มาที่ไปของหนังสือธรรมะเล่มนี้ (ภาพประกอบจากคุณ Five Precepts คลับกระดานชนวน ห้องศาสนา เว็บพันทิปดอทคอม)
บันทึกท้ายเล่ม ทำไมถึงมาทำเซียมซีพุทธ
ทำไมถึงมาทำเซียมซีพุทธ (ต่อ)


'เซียมซีพุทธ' อยู่ที่ใด ในวัดพระธาตุผาแก้ว

ตัดเนื้อหาบางส่วนจาก ผู้จัดการออนไลน์ ธรรมลีลา ฉบับที่ 119 ตุลาคม 2553 โดย อัญชลีพร กุสุมภ์

"...เซียมซีพุทธมีด้วยหรือ? คำสอนของพระพุทธเจ้าให้เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่ได้สอนเรื่องโชคชะตา แล้วเซียมซีพุทธจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

แต่ถ้าหากใครที่เป็นผู้ที่ติดตามผลงานทางศิลปะของ ‘อำนาจ กลั่นประชา’ หรือ ‘หลวงพ่ออำนาจ โอภาโส’ ในปัจจุบัน ก็คงจะรู้จักดีว่าได้เกิดขึ้นแล้ว และในรอบ 10 ปีนี้ เซียมซีพุทธได้รับความนิยม ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆแล้ว ถึง 4 ภาษาด้วยกัน คืออังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และเชค ผู้ที่มีอยู่ในบ้านเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า ตู้ยาประจำบ้าน แก้ได้ทุกอาการ จิตแพทย์หลายท่านบอกกับหลวงพ่อว่า ใช้เป็นอุบายในการรักษาคนไข้อย่างได้ผล

การที่ได้มีโอกาสกราบนมัสการหลวงพ่ออำนาจเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลวงพ่อเล่าว่าการวาดภาพ และเขียนหนังสือเซียมซีพุทธ เริ่มจากที่มีคนมาติดต่อให้วาดรูปไพ่ทาโรห์อยู่บ่อยๆ ประกอบกับท่านพุทธทาสเคยพูดไว้ว่าอยากจะทำเซียมซีพุทธ จึงได้เกิดแรงบันดาลใจสร้างผลงานชิ้นสำคัญในชีวิตขึ้นมา โดยเริ่มจากการวาดภาพไพ่ทาโรห์ทั้งสำรับขึ้นมาใหม่ 78 รูป ตีความใหม่ตามหลักพุทธศาสนา เช่น ไพ่ 8 คทาซึ่งหมอดูไพ่ทาโรห์ทั่วไปจะอธิบายว่าผู้ที่จับได้ไพ่ใบนี้กำลังมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น อาจจะดีหรือร้ายก็ได้ แต่หลวงพ่อตีความว่า เป็นหนทางพ้น ทุกข์ 8 ประการหรือมรรคมีองค์ 8

ไพ่ทาโรห์สำรับนี้จะใช้ประกอบกับหนังสือที่หลวงพ่อเขียนเป็นบทกวีในเชิงคำถามให้ชวนคิด และนำพุทธพจน์มาเป็นคำตอบ ไม่ว่าคุณจะสับไพ่และหยิบได้ไพ่ใบใดในสำรับ คุณจะมีคำตอบตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นจริงเสมอทุกกาลเวลา ทั้งชุดไพ่และหนังสือรวมเรียกว่า เซียมซีพุทธ อนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ (Roots Of Asia) หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับทั้งในกลุ่มชาวเอเชียและชาวยุโรป ที่แม้ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาว่า นำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นไปของชีวิต มีทางออกให้ทุกคน มีส่วนผสมที่ลงตัวทั้งภาพ กวี และพุทธพจน์ สานความขัดแย้ง 4 ปมมารวมกัน คือไพ่ทาโรห์หรือยิปซี หลักพุทธธรรม ความงมงาย และการปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผล ..."

4 ความเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

^_^

ขอบคุณค่ะ สำหรับคำอธิบายให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

ได้เซียมซีพุทธชุดเล็กจากการพิมพ์ครั้งแรกมาเมื่อเดือนตุลาฯ ที่ผ่านมานี้เองค่ะ

อ่านคู่มือแล้ว ไม่มีถ้อยคำใด ประโยคใดที่เกี่ยวกับการพยากรณ์เลย แต่กลับรู้สึกเหมือนว่าได้อ่านพระสูตรฉบับย่อ ที่ให้แนวทางในการดำเนินชีวิตทั้งทางโลก และทางธรรม ได้อย่างสวยงามด้วยถ้อยคำที่ร้อยเรียงชวนให้พิจารณาตาม กับบทสรุปที่ก่อให้เกิดความสว่างแห่งจิตใจ ปลดพันธนาการออกจากการยึดติดกับอดีต และอัตตา สู่การเรียนรู้ และอยู่กับปัจจุบันขณะ

และเมื่อดูภาพประกอบไปด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง มากขึ้น ได้มุมมองใหม่ ๆ สำหรับการนำไปใช้พยากรณ์ และการให้คำแนะนำตามวิถีแห่งพุทธะ

นับได้ว่าเป็นหนังสือธรรมะที่ควรค่าแห่งการเก็บอีกเล่มหนึ่งค่ะ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ (Dr Zei Tarot Card) กล่าวว่า...

ขออนุโมทนาด้วยนะครับ เพราะการได้อ่านได้ฟังธรรมนั้น ย่อมได้รับอานิสงส์ถึง 5 ประการคือ
1. เพิ่มพูนความรู้ใหม่ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
2. ทบทวนความรู้เดิม แม้เคยฟังแล้ว เมื่อฟังอีกย่อมเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น
3. ย่อมบรรเทาหรือคลายความสงสัยได้
4. เป็นการปรับความเห็นให้ถูกตรง ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ
5. จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใสผ่องใส เป็นการอบรมจิตใจให้สูงขึ้น

ธัมมัสสวนสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=5757&Z=5763

Akakung Sin กล่าวว่า...

อ่านบทความนี้แล้วนึกถึง กาลามสูตร 10 เลยครับ
คิดตรึกตรองก่อนที่จะเชื่อทุกครั้ง

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ (Dr Zei Tarot Card) กล่าวว่า...

แม้คิดตรึกตรองตามเหตุผล ก็อยู่ใน "10 อย่า" ของกาลามสูตรครับ

ที่ถูกต้องคือ "ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น"

"10 อย่า" มีอะไรบ้าง ... ลองอ่านสรุปที่ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กาลามสูตร

กล่าวง่ายๆ ก็คือ ต้องทดลองด้วยตนเองเห็นผลจริงก่อนว่าดีจริงๆ (และไม่ใช่ไม่เชื่อไปเสียหมด แล้วอ้างกาลามสูตร ทั้งๆที่ยังไม่ได้ทดลองอะไรเลย) และในระหว่างทดลอง ยังไม่ควรด่วนตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งครับ

เสริมว่า กาลามสูตร หรือ เกสปุตตสูตร นี้ หลายคนมักจะจำแต่ "10 อย่าเชื่อ" และหลายคนก็อ้างกาลามสูตร จนไม่เชื่ออะไรไปเสียหมด แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าความสำคัญของพระสูตรนี้อยู่ในช่วงท้าย ดังยกมาข้างต้น รวมทั้งช่วงต่อจากนั้น เพราะบางอย่างที่ทดลองไม่ได้ง่ายๆในทันที เช่น เรื่องนรก สวรรค์ ฯลฯ พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงบอกหลักปฏิบัติไว้ และความอุ่นใจ 4 ประการที่เห็นได้ทันทีเมื่อปฏิบัติตามนั้น ไม่ต้องรอชาติหน้าหรือชาติไหนๆ

ควรอ่านทั้งพระสูตรที่ เกสปุตตสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=4930&Z=5092

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น