23 พฤษภาคม 2554

ไพ่ป๊อกทำนายจากค่ายจักรยาน (USPCC Fortune Telling Playing Cards)

ไพ่เอซ Ace และไพ่โจ๊คเกอร์ Joker แบบมาตรฐาน
จากไพ่ป๊อกค่ายจักรยาน Bicycle Playing Cards
ที่มาภาพ: http://www.stateofplayblog.com
เนื้อหาของบทความในเว็บบล็อก ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์เรา ที่ผ่านมา ค่อนข้างเน้นไปทางฝั่งของไพ่ทาโรต์และไพ่ออราเคิลเป็นส่วนใหญ่ คราวนี้บล็อกเราขอกล่าวถึงไพ่ที่ใช้ทำนายพยากรณ์อีกกลุ่มหนึ่งคือ ไพ่ป๊อก กันบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเราได้เกริ่นถึงไปบ้างแล้วในส่วนของประวัติความเป็นมาของไพ่ทำนายประเภทนี้ในบทความความต่างของไพ่พยากรณ์ หรือในรีวิวสำรับไพ่ทาโรต์โนวา Tarot Nova ที่มีลวดลายสัญลักษณ์ชุดไพ่หรือดอกไพ่ที่เกี่ยวข้องกันกับชุดไพ่ป๊อก

ลีลาตัดไพ่ Card Flourish แบบหนึ่ง
คงต้องออกตัวก่อนว่า ส่วนตัวในฐานะนักชื่นชมไพ่ ที่กึ่งๆสะสมไพ่ กึ่งๆทำนายไพ่ คงไม่ขอรีวิวในด้านของความลื่นไหลในการคลี่ไพ่ การสับไพ่ กรีดไพ่ หรือจับตัดไพ่ โดยเปรียบเทียบระหว่างไพ่ป๊อกแต่ละยี่ห้อมากนัก เพราะในด้านความละเอียดของการใช้งานคงยกตัวอย่างหรืออธิบายให้เห็นภาพได้ไม่ดีเท่านักมายากลไพ่ ที่ความผิดพลาดแม้เพียงนิดเดียวในการคลี่ไพ่ การสับไพ่ การจับไพ่ ฯลฯ มีผลเป็นอย่างมากต่อการแสดงทั้งแบบมายากล และแบบลีลาสวยงาม (Card Flourish) รวมทั้งความไม่คุ้นเคยในศัพท์แสงเฉพาะในท่าทางของวิธีการจับไพ่ และวิธีสับไพ่อันหลากหลาย ซึ่งเนื้อหาในส่วนดังกล่าวคงหาอ่านได้ไม่ยากในเว็บไทยทั่วไปในกลุ่มนักแสดงมายากล (Magician หรือ Illusionist) แต่ขอเน้นเฉพาะในด้านความสวยงามของไพ่ป๊อก และงานพิมพ์ที่อาจจะเหมาะกับแนว Cartomancy กลุ่มนักทำนายไพ่นักพยากรณ์ไพ่แล้วกันนะครับ ;)


รู้จักไพ่ป๊อกจาก United States Playing Card Company (USPCC)

เกริ่นนิดว่าไพ่ป๊อกที่เรากำลังจะพูดถึงในบทความนี้นั้น เน้นว่าเป็นไพ่ป๊อกกระดาษที่ตีพิมพ์มาจากบริษัท USPC หรือ USPCC นะครับ (ไพ่ป๊อกพลาสติกเค้าก็ผลิตนะครับ) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1867 โดยบริษัทนี้ได้ผลิตไพ่ป๊อกเป็นของตัวเองด้วยกันหลายยี่ห้อ และซื้อกิจการของบริษัทไพ่เจ้าดังๆ อื่นๆ อีกหลายแห่ง ที่เราๆท่านๆในฐานะนักพยากรณ์ไพ่ทาโรต์อาจคุ้นเคยกันดี อย่างเช่น ค่าย Fournier ทางสเปน เจ้าของไพ่ทาโรต์ Black Tarot, I-Ching Dead Moon และ Favole Tarot ก็เป็นของบริษัทนี้ตั้งแต่ปี 1986 แล้วครับ (แต่ไหงกระดาษไม่เห็นเป็นเหมือนไพ่ป๊อกของเจ้า USPCC นี้เลย -_-") รวมถึงตีพิมพ์และตัวแทนจำหน่ายไพ่ป๊อกที่ได้รับการออกแบบโดยบริษัทอื่นๆ หมายเหตุ บริษัท USPCC นี้ เป็นคนละเจ้ากับบริษัท US Games (หรือชื่อเต็มว่า U.S. Games Systems, Inc.) ที่รายนั้นเน้นผลิตไพ่ทาโรต์เป็นหลักนะครับ (แต่ก็ผลิตไพ่ป๊อกออกจำหน่ายด้วยเช่นกัน) (ที่มาข้อมูล วิกิพีเดีย และเว็บบอร์ดต่างๆของกลุ่มไพ่ป๊อกระบุด้านล่าง)

... ว่าแล้วเราก็มาทำความรู้จักกับไพ่ป๊อกและยี่ห้อดังๆเด่นๆที่ได้รับการตีพิมพ์โดยบริษัท USPCC กันซักนิดครับ ^_^


ไพ่ป๊อก Bicycle Playing Cards

ลายด้านหลังไพ่ป๊อก Bicycle แบบมาตรฐาน
ที่มาภาพ: http://www.stateofplayblog.com
ถือเป็นสินค้ายี่ห้อหลักตัวเด่นของบริษัท USPCC ซึ่งได้เริ่มผลิตไพ่ป๊อกภายใต้ชื่อ Bicycle ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1885 โดยได้พัฒนาการสร้างไพ่ที่เรียกว่า Air-Cushion Finish ที่ถือเป็นจุดปฏิวัติวงการการผลิตไพ่เลยทีเดียว เพราะไพ่ทั่วไปจะเป็นแผ่นเรียบ แต่แบบ Air-Cushion Finish จะมีเป็นเหมือนตาข่ายช่องลม ซึ่งมีส่วนช่วยให้การคลี่ไพ่ทำได้อย่างไหลลื่น รวมถึงความยืดหยุ่นและการดีดสปริงตัวของตัวไพ่ ตลอดจนความทนทานต่อการใช้งานที่ดีกว่าไพ่ป๊อกปกติทั่วไป และถูกใช้งานโดยนักมายากลดังๆ อย่างเช่น เดวิด เบลน David Blaine, ซีริล(หรือไซริล) ทากายามะ Cyril Takayama เป็นต้น
ส่วนหนึ่งของความเป็น Air-Cushion Finish
ที่สามารถสังเกตได้บนพื้นผิวหน้าไพ่ป๊อก Bicycle Playing Cards
(ส่วนสีพิมพ์ตัวเลขและดอกไพ่ในรูปนี้ ไม่เข้มดำทึบ เพราะเป็นรุ่นพิเศษ)


ไพ่ป๊อก Tally-Ho Playing Cards

ลายด้านหลังของไพ่ป๊อก Tally-Ho
แบบพัดคลี่ Fan Back และแบบวงกลม Circle Back
ไพ่ป๊อก Tally-Ho รุ่นมาตรฐานมีวิธีการพิมพ์ที่เรียกว่า Linoid Finish ซึ่งจากข้อมูลที่ทราบยังคงลื่นไหลอยู่มากเช่นกัน แต่จะฝืดกว่าของ Bicycle อยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งก็จะเหมาะกับลักษณะการแสดงบางประเภทโดยเฉพาะพวกแนว Card Flourish เพราะถ้าไม่ชำนาญดีและไพ่ลื่นมากจนเกินไปก็อาจหลุดมือได้ เป็นต้น นอกจากนี้มักกล่าวกันว่าไพ่จาก Tally-Ho นั้น มีความหนาและทนทานต่อการใช้งานมากกว่าเมื่อเทียบกับ Bicycle Card ใช้งานไปนานๆ แล้วจะไม่นิ่มหรือหยุ่นจนเกินไป (แต่คงต้องระดับมืออาชีพกระมังครับ จึงจะสังเกตจุดนี้ได้ .. เพราะโดยส่วนตัวใช้แค่จับไพ่ คลี่ไพ่ สับไพ่ สำหรับพยากรณ์ทำนายด้วยไพ่หรือใช้เล่นเกมส์ไพ่ทั่วไปก็จัดว่าดีด้วยกันทั้งนั้น)

ส่วนลายด้านหน้าไพ่และการพิมพ์ของยี่ห้อ Tally-Ho นั้น ยังไม่ค่อยหลากหลายเท่าของ Bicycle มากนัก และลวดลายด้านหลัง นอกจากสีแดงและสีน้ำเงินแล้วจะมีสีเขียวและสีดำที่เป็นรุ่นพิเศษออกมาเสริมบ้าง .. ส่วนลายบนหน้าไพ่แบบอื่นๆที่เป็นรุ่นพิเศษนอกจากนี้ เช่น Viper ที่ฉีกตัวออกมาเป็นพิเศษ จากการออกแบบโดยกลุ่ม Ellusionist (ข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้อด้านล่าง) ทั้งลวดลาย สีสัน และการพิมพ์ที่ไม่ใช่ Linoid Finish อีกต่อไป


ไพ่ป๊อก Bee Playing Cards

ไพ่เอซ (Ace) และโจ๊คเกอร์ (Joker) จาก Bee
ที่มาภาพ: http://www.stateofplayblog.com
ไพ่ป๊อก Bee จะมีการพิมพ์ในแบบที่เรียกว่า Cambric ตามข้อมูลกล่าวว่ามีความนุ่ม ยืดหยุ่นและงอตัวได้มากกว่าสองเจ้าด้านบน ไพ่ป๊อก Bee นี้ค่อนข้างเน้นสำหรับการใช้เล่นเกมส์ไพ่มากกว่าจะเป็นในงานมายากลหรืองานแสดงลีลาการตัดไพ่ อาจเนื่องด้วยเหตุผลว่าด้านหลังไพ่ที่จะไม่มีขอบสีขาวเหมือนเจ้าอื่นๆ กระนั้นก็นับว่าคุณภาพไพ่ดีพอๆกับสองเจ้าด้านบน และแน่นอนว่าดีกว่าไพ่กระดาษปกติทั่วไป


ไพ่ป๊อกจากบริษัทอื่นๆ

เป็นบริษัทที่ตั้งโดยกลุ่มนักมายากลไพ่และศิลปิน ทว่าไพ่ที่ออกแบบยังคงถูกตีพิมพ์โดยทาง USPCC ตัวไพ่ค่อนข้างเน้นด้านความสวยงามในการออกแบบ พร้อมๆกับความคล่องตัวในการใช้งาน
ไพ่ป๊อกโทนขาวดำ Tally-Ho Viper จาก Ellusionist
ที่มาภาพ: http://www.ellusionist.com
  • Ellusionist สำรับไพ่ป๊อกในรุ่นก่อนๆ ที่ได้รับการออกแบบจากค่ายนี้ จะมีการเคลือบไพ่ในแบบที่เรียกว่า UV500 Air Flow ซึ่งจะมีความเงาสะท้อนสวยงามในยามต้องแสงแดด ทว่าด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จึงได้รับคำสั่งเบื้องบนจาก USPC ว่าไม่สามารถจัดพิมพ์แบบ UV500 ได้อีกต่อไป ...อีกด้านหนึ่งในแง่กฎหมายทำให้ไพ่ป๊อกชุดที่พิมพ์ในครั้งต่อๆมาของเจ้านี้ แม้จะเป็นชื่อรุ่นเดียวกัน (ไม่ว่ากระดาษและงานพิมพ์จะต่างกันหรือเหมือนกันก็ตาม) แต่ข้างกล่องก็จะเปลี่ยนเป็นระบุใหม่ว่าเป็นการพิมพ์ด้วยระบบ Air-Cushion ด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ Air-Flow ดังเดิม
  • Big Blind Media และ Theory11 ล้วนถูกผลิตในรูปแบบที่เป็น Air-Cushion เกือบหมดเช่นกัน เป็นกลุ่มที่น่าจับตาในด้านความสวยงามในการออกแบบ โดยเฉพาะลวดลายและสีสันที่ฉีกแนวไปจากไพ่ป๊อกปกติเป็นอย่างมาก

ไพ่ป๊อกแนวอาร์ตแรงๆ ที่ไพ่ทุกใบคล้ายเปรอะด้วยหยดเลือด
หนึ่งในซีรี่ส์ Karnival จาก Big Blind Media
และแน่นอนครับ ด้วยความสวยงามและเสน่ห์ของงานออกแบบไพ่ป๊อกจากบริษัทกลุ่มหลังนี้ล่ะ ที่แม้ว่าบางครั้งบางสำรับอาจจะไม่เหมาะกับการแสดงมายากล ที่ลวดลายอาจมีผลให้สะดุด หรือดูเป็นไพ่ป๊อกทำขึ้นมาพิเศษจนเกินไปสำหรับผู้ชม แต่ดูแล้วน่าจะเหมาะกับผู้ชื่นชอบศิลปะ หรือต้องการงานภาพบนหน้าไพ่ที่ดึงดูดสายตาและอารมณ์ของเจ้าชะตาในขณะใช้งานทำนายและพยากรณ์ (หมายเหตุ: ไพ่บางรุ่นของยี่ห้อด้านบนก็มีสวยๆอยู่เยอะเช่นกัน โดยเฉพาะไพ่ป๊อก Playing Cards จากยี่ห้อ Bicycle ของบริษัท USPCC เอง)

ดังนั้นหากมีโอกาส ทางเว็บบล็อกดร.เซ่ไพ่พยากรณ์เรา คงจะได้นำไพ่ป๊อกสวยๆแปลกๆเหล่านี้มารีวิวให้ชมกันครับ ;) ทั้งนี้ยังอาจรวมไปถึงรีวิวไพ่และแนะนำการใช้งานพยากรณ์ด้วยไพ่ป๊อกแบบพิเศษอีกประเภทหนึ่ง ที่สามารถนำไพ่ป๊อกมาทำนายในแบบออราเคิล Oracle คืออ่านไพ่จากภาพ หรือแปลความหมายไพ่สื่อสัมผัสภาพกันได้ (เอ.. ไม่รู้ใครจะได้สังเกตไพ่สามใบบนที่ Gravatar ของบล็อกเราที่ติดไว้ตั้งแต่ต้นปีกันบ้างรึเปล่าน๊า ยังไงลองค่อยๆติดตามกันไปนะครับ ^_^)


คุณภาพกระดาษไพ่และการใช้งานไพ่ป๊อก USPCC

โดยสรุปหากต้องการการใช้งานแบบละเอียดสุดๆนั้น คงต้องเช็คเป็นรุ่นๆและล็อตๆไปนะครับ .. แต่ในแง่การทำนายและพยากรณ์ หรือชื่นชมความงามของไพ่ ก็คงแล้วแต่ความชอบแล้วล่ะครับ เพราะด้านคุณภาพไพ่นั้น นับได้ว่าหากมาจากทางฝั่ง USPCC แล้ว ค่อนข้างรับประกันความพึงพอใจได้ในระดับหนึ่งเลย ว่าดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะได้รับการออกแบบและพัฒนามาตรฐานการผลิตสำรับไพ่มาโดยตรงเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบุกสมบัน ทำให้การใช้งานโดยรวมของไพ่ป๊อกจากแต่ละยี่ห้อนั้นแทบจะไม่แตกต่างกันนัก หากไม่ได้สังเกตเปรียบเทียบกันอย่างจริงจังแล้ว คงยากจะระบุความต่างตรงนี้ได้

โดยส่วนตัวแล้ว เท่าที่สัมผัสจากการใช้งานตามปกติและสังเกตเปรียบเทียบไพ่จากที่มีอยู่เพียงไม่กี่สำรับ (เพราะเล่นกลไพ่ไม่เป็นนะครับ สับไพ่เฉยๆยังจะหลุดมือเลย :P) พอจะสามารถบอกได้ว่า แม้จะเป็น Air-Cushion Finish เหมือนกัน แต่อาจด้วยกระดาษ หมึกพิมพ์ และการเคลือบที่ต่างกัน จึงทำให้แม้เป็นยี่ห้อเดียวกันก็จะมีความฝืดแตกต่างกันไประหว่างรุ่น ...อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วสามารถกล่าวได้เลยว่า หากเทียบกับไพ่ทาโรต์หรือไพ่ออราเคิลตามท้องตลาด ซึ่งแม้จะเป็นสำรับไพ่ทาโรท์ที่พิมพ์ในต่างประเทศก็ตาม ต้องบอกว่าคุณภาพไพ่ป๊อกต่างประเทศของ USPCC ไม่ว่าจะเป็นจากยี่ห้อใดนั้น

  • ในด้านความลื่นไหลของการคลี่ไพ่ และความยืดหยุ่นในการกรีดไพ่และสับไพ่นั้น ล้วนดีกว่าไพ่ทาโรต์ไพ่ออราเคิลทั่วไปมากๆ แม้จะยี่ห้อที่ลื่นหรือยืดหยุ่นไม่ค่อยพอในสายตานักมายากลไพ่ ก็ยังดีกว่าแทบจะทุกสำนักพิมพ์ที่จำหน่ายไพ่ทาโรต์หรือไพ่ออราเคิลที่ใช้ทำนายกันอยู่ทั่วไป คลี่ไพ่ลื่น หยิบจับใช้งานสะดวก ตั้งแต่แกะกล่องโดยไม่จำเป็นต้องใช้แป้งคลี่ไพ่ (Fanning Powder) โรยเคลือบหน้าไพ่เพิ่มแต่อย่างใด ..เพราะต้องอย่าลืมว่าในการใช้งานมายากลไพ่นั้น ความชื้นของมือหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนเพียงนิด รวมถึงสภาพกระดาษของไพ่ที่เปลี่ยนไปก็มีผลต่อความยืดหยุ่นของตัวไพ่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อใช้ในการแสดงติดต่อกันหลายชั่วโมง
  • อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการตัดขอบไพ่ด้านข้างของไพ่ป๊อกนั้น จะรู้สึกมีความเป็นกระดาษอยู่ค่อนข้างมาก (ต่างจากไพ่ทาโรต์หรือไพ่ออราเคิลบางรุ่น) ซึ่งจุดนี้แม้จะสะดุดซักนิดในด้านความสวยงาม ทว่ามีส่วนช่วยในเรื่องของการจับไพ่ได้กระชับมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผู้นิยมเล่นเกมส์ไพ่ นักมายากล หรือแสดงลีลาการคลี่ไพ่และสับไพ่

ลีลาการตัดไพ่ป๊อกแบบสวยงาม Card Flourish
ด้วยไพ่ป๊อกยี่ห้อ Split Spade ซึ่งได้รับการออกแบบ
และรับรองการใช้งานโดย David Blaine และทีมงาน)
ถึงกระนั้นด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ต่างกัน และลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันระหว่างใช้ในการแสดง การเล่นเกมส์ไพ่ หรือใช้ทำนายพยากรณ์ด้วยไพ่ จึงคงขึ้นอยู่กับความถนัดและความชื่นชอบของแต่ละท่านนะครับ เพราะสุดท้ายแล้วหากไม่ถนอมรักษากันดีๆ คงต้องเยินเหมือนๆกัน ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับรุ่นและยี่ห้อของไพ่ป๊อก ไพ่ทาโรต์ ไพ่ยิปซีและไพ่ออราเคิล ของแต่ละเจ้าและแต่ละรุ่นด้วยนะครับ

แต่สำหรับผู้ชื่นชอบความสวยงามและน่าหลงใหลของไพ่แล้ว อยากแนะนำให้ลองสัมผัสไพ่และใช้งานไพ่ป๊อกประเภทเหล่านี้ดูบ้าง แล้วจะทราบถึงความคุ้มค่าในด้านคุณภาพไพ่และความคุ้มกับราคา (ที่ค่อนข้างย่อมเยากว่าสำรับไพ่ทาโรต์และไพ่ออราเคิลทั่วไปอยู่พอสมควร) เพราะเพียงแค่จับไพ่มาคลี่ จับไพ่มาสับแล้ว ด้วยความลื่นไหลและกระชับขณะใช้งาน แทบอยากจะเรียนรู้ศึกษาวิธีดูดวงทำนายด้วยไพ่ป๊อกมากยิ่งขึ้น ;)

10 ความเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมเองก็มีไพ่จากค่ายนี้อยู่สำรับหนึ่งครับ
คือ Black Ghost เล่นจนถลอกหมดเเล้วครับ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ไพ่ป๊อกสีดำ ใช้ไปนานๆ ยังไงขอบก็คงต้องลอกล่ะครับ เห็นมีบางเว็บและบางคลิปในยูทูวบ์ มีวิธีปิดรอยถลอกพวกนี้เหมือนกัน

ปล. ทราบมาว่าถ้าเป็น Black Ghost 1st Edition ราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นหลายร้อยดอลล์ได้เหมือนกันนะครับ :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมซื้อ Version 2 ครับ
ไม่ไหวถ้าจะเล่นของแพง
เกิดพังไปหละแย่เลยครับ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ราคาขนาดนั้นผมเองก็รับไม่ไหวเหมือนกันครับ ซื้อสำรับไพ่มาก็คงได้แต่เก็บไว้ไม่กล้าใช้ นานๆทีก็เปิดมาชื่นชม -_-" ทำให้รู้สึกเสียดายหากใช้งานไพ่ได้ไม่คุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็น ...ขอเก็บตังค์ไว้สำหรับสำรับไพ่ชุดอื่นๆดีกว่า ;)

Dear กล่าวว่า...

โอ้...โห...เพิ่งเข้ามาเห็นค่ะ ไพ่ป๊อกเดี๋ยวนี้ จ๊าบมากๆค่ะ คุณ he สะสมหมดเลยนะคะ ที่บ้านตู้เก็บไพ่ขนาดไหนกันคะนี่ :))))

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ไพ่ป๊อกสมัยนี้ทำได้สวยจนอดใจไม่ไหวนั่นล่ะครับ แถมเสน่ห์เฉพาะตัว อยู่ตรงที่ยังต้องคงรูปแบบสัญลักษณ์ชุดไพ่ไว้ ทำให้ปรับอะไรไม่ได้มากนั่นล่ะครับ

แรกๆแค่อยากได้ไพ่ป๊อกคุณภาพดีๆซักสำรับมาเก็บไว้ใช้เฉพาะด้านทำนาย แต่พอหลังจากค้นข้อมูล และทดลองใช้แล้วชอบ ไปๆมาๆเลยได้บทความนี้มาฝากกันนั่นล่ะครับ ^_^

ส่วนตอนนี้ยังมีไพ่ป๊อกอยู่แค่ไม่กี่สำรับ แต่ดูๆแล้วเต็มที่ตอนนี้คงไม่น่าจะเกินสิบครับ เพราะแม้ราคาต่อสำรับจะถูกกว่าไพ่ทาโรต์ทั่วไป แต่ทีเดียวเยอะๆนี่ก็ไม่ไหวเหมือนกันครับ (ต้องเก็บทุนไว้รอไพ่ทาโรต์ที่รอๆเล็งๆไว้อยู่อีก -_-") .. แต่ขนาดไพ่ป๊อกไม่ได้ใหญ่มาก ลิ้นชักเล็กๆก็พอเก็บอยู่ครับ ;P

Peterito กล่าวว่า...

ไพ่ป๊อกผมมีอยู่ชุดเดียว มีคนซื้อมาฝากจากฝรั่งเศษสวยมากครับแต่เสียดายครับเพื่อนมันเอาไปเล่นป๊อกเด้งไปซะละ หมดกันเอามาทำนายไม่ได้แล้ว T_T

แต่เมื่อวานได้สำรับใหม่มาแทนละครับ อิอิ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

แบบนี้ต้องลอง Cleansing ไพ่ดูหลายๆแบบ อาจจะพอช่วยได้ครับ ดังได้แนะนำไว้คร่าวๆในบทความ เสริมพลังไพ่

คุณเกียร์ กล่าวว่า...

เดี๋ยวนี้หายากแล้วนะครับ นักพยากรณ์ด้วยไพ่ป๊อก บ้านเราตอนนี้ปริมาณลดน้อยลงจนน่าใจหาย น่าอนุรักษ์ครับ T^T

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ (Dr Zei Tarot Card) กล่าวว่า...

น่าจะเพราะการทำนายด้วยไพ่ป๊อก ต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้ และฝึกฝนให้ชำนาญค่อนข้างนานน่ะครับ

อีกทั้งความหมายของไพ่ป๊อก และวิธีการทำนายก็มีอยู่หลายระบบด้วย


ซึ่งตรงนี้ จะต่างกับไพ่ทาโรต์ ที่ความหมายไพ่แต่ละใบ จะมีกรอบของตัวเองอยู่ แม้ต่างระบบกัน ก็สามารถสาวถึงต้นตอและที่มาได้ไม่ยาก

และการเรียนไพ่ทาโรต์ ไพ่ยิปซี หรือไพ่ออราเคิลต่างๆ ก็ไม่ยาก เพราะมีภาพเป็นตัวช่วย เรียนแป๊บๆ ก็พออ่านไพ่เป็นกันแล้ว

... ทว่าจุดนี้กลับเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ เพราะพอคิดกัน(เอง)ว่าทายได้ ก็มาเปิดร้านหมอดูกันเกลื่อนเมือง ทั้งๆที่ยังไม่ได้ฝึกฝนหาความชำนาญ ยิ่งหากเป็นพวกไม่สนใจศึกษาหลักการ ความรู้ไพ่ด้านต่างๆ เพิ่มเติม ก็จะยึดแต่วิธีเก่าๆ หรือกลับกันก็จะพัฒนาไปในทิศทางคนละเรื่องเลยก็มี

จึงหวังว่าเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ นี้ จะช่วยอุดรอยรั่วดังกล่าวได้บ้าง ไม่มากก็น้อยครับ :)

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น