1 ธันวาคม 2553

อ่านเขียนใช้คำว่า "ทาโรต์" ให้ถูกต้อง (How to Pronounce TAROT)

ขึ้นต้นหัวข้อแบบนี้หลายท่านอาจจะขำกลิ้ง กับเรื่องง่ายๆ ทำนองนี้... แต่เอาเข้าจริง การออกเสียงหรือใช้คำว่า Tarot นี้ แม้แต่ชาวต่างชาติก็ยังงงๆ จนอย่างเว็บ Aeclectic ต้องเก็บไว้เป็นหนึ่งหัวข้อในคลังกระทู้กันเลยนะครับ และหากรักจะเป็นนักพยากรณ์ด้วยไพ่แล้ว แต่ออกเสียงชื่อคำเรียกไพ่ที่ตัวเองใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแบบผิดๆทุกครั้งนี่ ต่อให้ทายแม่นยังไงก็คงดูไม่ค่อยจะดีนักครับ (อายลูกค้าแย่เลย :P)... ยิ่งเด็กไทยรุ่นใหม่ๆ สมัยนี้กล้าคิดกล้าพูด ภาษาพัฒนาก้าวหน้ากว่าคนรุ่นเก่าๆ(อย่างผม -_-")เยอะเลย .. แถมบางทีหากลูกค้ามัวแต่สะกิดใจ สะดุดกับการอ่านคำต่างๆผิดๆถูกๆของนักทำนายแล้ว อาจเกิดการปั่นป่วนสับสนในการจับไพ่อย่างผิดๆถูกๆตามไปด้วยเช่นกันก็ได้ ใครจะรู้ :P

คราวนี้เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศคั่นรายการด้วยเรื่องอะไรเบาๆ (เอ..หรือหนักหว่า) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษบ้างละกันครับ... ส่วนท่านใดเพิ่งเปิดหน้านี้ขึ้นมาเป็นหน้าแรก ยังงงๆว่าอะไรคือไพ่ยิปซี อะไรคือไพ่ทาโรต์ อะไรคือไพ่ออราเคิล สามารถอ่านบทความเก่าเรื่อง "ความต่างของไพ่พยากรณ์" ได้ตามลิงค์นี้ครับ (ความต่างของไพ่พยากรณ์ ตอนแรก และความต่างของไพ่พยากรณ์ ตอนสอง)


ไพ่ทาโรต์ (Tarot)


ไพ่ทาโรต์: ถอดเสียงอ่าน

คำนี้อ่านว่า ทา-โร่ว หรือ แท-โรว หรือหากจะออกเสียงเป็น ทา(ร์)-โอว หรือ แท(ร์)-โอว ก็ยังได้ ..คือตัว "ร" ยังอยู่ที่ปลายลิ้นหลังจากออกเสียงพยางค์แรก พอพยางค์สองออกเสียงเป็น "โอว" เลยควบต่อกันเป็น "โรว" โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่า อ่าน "อา" จะฟังเป็นผู้ดีอังกฤษมากกว่าอ่าน "แอ" ที่ออกจะอเมริกันไปหน่อยครับ และจะอ่านแบบเน้นออกเสียงพยางค์แรกให้เด่นกว่าพยางค์หลังครับ TAH-roh หรือ TAR-oh และจะเห็นบางแห่งมีเน้นพยางค์หลังกันอยู่บ้างเช่นกันเป็น ta-ROH เป็นต้น

ตรงนี้ต้องกำกับด้วยว่า ตัวอักษร "o" ในภาษาอังกฤษ ไม่ได้ออกเสียงว่า "โอ" นะครับ.. แต่ออกเสียงว่า "โอว" (คือสระโอไม่มีในภาษาอังกฤษ มีแต่สระโอว :P) แต่จุดนี้ไม่ซีเรียสนักเพราะยังพอฟังกันเข้าใจได้อยู่ครับ ทว่าจุดที่แปร่งๆแปลกๆหน่อยคือ เคยเห็นหนังสือบางเล่ม หรือบางเว็บไซท์สะกดถอดคำมาจากภาษาอังกฤษตรงๆ เป็น ทาร็อตบ้าง ทารอทบ้าง หรือแทรอตก็ยังมี (ทำให้อ่านผิดเป็น ทา-หร็อด แท-หร็อด) ซึ่งคงไม่ค่อยจะถูกต้องนัก(แม้ว่าจะไม่ผิดซะทีเดียว หากจะอ้างว่าอ่านตามแบบภาษาฮิบรู) แต่ทว่าคำนี้คนไทยเราดูจะรับอิทธิพลเรื่องไพ่ทาโรต์มาจากทางยุโรปหรือชาติตะวันตกอื่น ซึ่งรับมาจากทางภาษาฝรั่งเศสอีกทีเสียมากกว่า ดังนั้นที่ควรใช้ควรอ่านกัน คือ ตัว "t" ในตำแหน่งตัวสะกดสุดท้าย (tarot)จะไม่ออกเสียงครับ

ไพ่ทาโรต์: เขียนคำทับศัพท์

ในการสะกดเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษในภาษาไทย จากราชบัณฑิตยสถาน
  • เพื่อให้ใกล้เคียงกับการออกเสียงดังกล่าว โดยทั่วไปจึงควรสะกดเป็น "ทาโรท์" หรือ "ทาโรต์" แล้วแต่ถนัด
  • และในระบบการถอดคำตามหลักภาษาไทยจากภาษาต่างประเทศก็ต้องไม่มีไม้เอกตรงพยางค์ท้ายจนกลายเป็น "ทาโร่ต์" หรือ "ทาโร่ท์" ด้วยครับ
  • แต่ที่สำคัญคือควรมีตัวการันต์ไว้ที่ตัว "ท" หรือ "ต" ที่ห้อยท้ายซักหน่อยจะได้ไม่ต้องออกเสียงครับ
  • กรณีหากต้องการสะกดเป็น "ทารอต" หรือ "แทรอต" ตามหลักการเขียนคำภาษาไทยที่ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ควรมีไม้ไต่คู้ เพื่อให้ผู้อ่านแยกพยางค์ได้ถูกต้องชัดเจนขึ้น (จะได้ไม่อ่านเป็น ทาน-อด หรือ แทน-อด) จึงควรสะกดเป็น "แทร็อต" หรือ "ทาร็อต"
แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยนะครับ เพราะหากอิงตามราชบัณฑิตยสถานในระบบการถอดคำจากภาษาฝรั่งเศส
  • ควรเขียนเป็นภาษาไทยว่า "ไพ่ทาโร" (ไม่มี ต-การันต์ หรือ ท-การันต์) และต้องไม่มีไม้เอกจนสะกดผิดเป็น "ไพ่ทาโร่" เช่นกัน 
  • แต่หากนับว่าคำนี้เป็นภาษาอังกฤษ(ที่รับจากฝรั่งเศสอีกที)แล้ว ควรสะกดให้ถูกเป็นว่า "ไพ่ทาโรต์"
  • อย่างไรก็ตามสำหรับเว็บบล็อก "ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์" นี้ จะใช้ทั้ง "ทาโรต์" และ "ทาโรท์" สลับกันไปมาบ้างนะครับ เพราะหากนับว่าเป็นอังกฤษจริงๆ คำๆนี้ควรเขียนและถอดคำเป็น "ทารอต" แต่เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านแบบนี้กัน แถมเป็นอังกฤษก็ไม่ใช่ฝรั่งเศสก็ไม่เชิงจึงขอปรับเป็น "ทาโรท์" บ้างในบางกรณี ถือซะว่าเป็นคำทับศัพท์เฉพาะเป็นเอกลักษณ์ของเว็บนี้ละกันนะครับ :P

และจากที่เคยพูดถึงระบบไพ่ทาโรต์ยอดนิยมรองจากระบบไพ่ทาโรต์สำรับไรเดอร์เวท (Rider-Waite) คือสำรับไพ่ทาโรต์ธ็อธ Thoth Tarot นั้น การออกเสียงตัว "th" ค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับคนไทยพอสมควร หรือแม้แต่ฝรั่งประเทศอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ก็ออกเสียงอักขระคู่นี้ค่อนข้างยากครับ คือคล้ายตัว "ท-ทหาร" แต่ต้องเอาปลายลิ้นแตะไว้ด้านหลังฟันหน้าด้านบนแล้วเปล่งลมออกมา (ดูรูปประกอบ ..ยากมั้ยครับ :P).. ส่วนการเขียนเป็นภาษาไทย ส่วนตัวผมนิยมเขียนว่า "ไพ่ธ็อธ" หรือ "ไพ่ธอธ" เพื่อให้รู้สึกว่าไม่ใช่ออกเสียงแบบภาษาไทยด้วยตัว "ท-ทหาร" ปกติ (แม้ว่าตามหลักถอดคำจะไม่เป็นเช่นนี้ก็ตาม อืม..น่าปรับปรุงระบบการถอดคำของราชบัณฑิตยสถานตรงจุดนี้นะเนี่ย)
วิธีออกเสียงตัว Th แบบขำๆ จากหนังสือ How to be British
ส่วนไพ่ทาโรต์ระบบ Tarot de Marseille หรือ Tarot of Marseilles นั้นรากศัพท์เดิมเป็นภาษาฝรั่งเศส หากออกเสียงตามรากศัพท์เดิม จึงควรเป็น มา-เซ หรือ มา-เซ-ยุ (ออกเสียงพยางค์ที่สามเบาๆ) โดยไม่มีตัว s ห้อยท้ายและไม่ออกเสียงตัว s ท้ายคำด้วยครับ (หากจะอยากจะออกเสียงในแบบภาษาอังกฤษก็สามารถทำได้ ซึ่งคำอ่านก็จะกลายเป็น มา-เซว(ล์) คืออ่านแบบสะกดด้วย "แม่เกอว" แทนครับ) ส่วนการสะกดส่วนตัวแล้วผมจะใช้ว่า "มาร์เซย์" (หรือคำว่า "มาร์แซย์" ก็เห็นมีใช้กันอยู่ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ค่อยถูกต้องนัก) อ้างอิงจากราชบัณฑิตยสถาน

ชุดไพ่ทาโรต์ (Tarot Suits)

มีน้องท่านหนึ่งเคยถามถึงการออกเสียงคำว่า Wand ซึ่งก็คือไพ่ชุดไม้เท้าหนึ่งในสี่ชุดของไพ่ทาโรต์ คำนี้จะอ่านว่า "วานด์" หรือ "วอนด์" ก็ได้ทั้งนั้นครับ แต่ควรเลี่ยงที่จะอ่านว่า "แวนด์" นะครับ เพราะดูจะออกอเมริกันแบบลงไปทางใต้เยอะไปหน่อย หากออกเสียงวอนด์หรือวานด์จะออกสไตล์ผู้ดีอังกฤษครับ :P (อเมริกันแบบกลางๆ มีสกุลหน่อย ปกติก็จะออกเสียงแบบนี้เช่นกัน)

ส่วนคำว่า Sword ที่เป็นไพ่ชุดดาบในไพ่ทาโรต์นั้น ในภาษาอังกฤษนั้นไม่ได้ออกเสียงแบบชัดถ้อยชัดคำเป็นสองพยางค์อย่างที่เราคุ้นเคยกันว่า "สะ-หวอด" นะครับ แต่แทบจะออกเสียงเป็นพยางค์เดียวไปเลยคือ "สอด" (แบบควบเสียง "ว" ตรงกลางหน่อยๆ) แต่การถอดคำเป็นคำไทยตามหลักราชบัณฑิตยสถานยังคงใช้ว่า "สวอร์ด"

ส่วน Pentacle ไพ่ชุดเหรียญนั้น คำนี้ไม่ค่อยจะออกเสียงเพี้ยนหรือผิดกันเท่าไหร่ครับ หลักๆคือให้เน้นพยางค์แรก ส่วนพยางค์สองกับสามออกกึ่งเสียงสั้นๆ ดังนั้นจะอ่านว่า "เพน-ทิ่-เคิ่ล", "เพน-ท่ะ-เคิ่ล", "เพน-เท่อะ-เคิ่ล" หรือให้เสียงพยางค์หลังสุดเบาไปอีกเป็น "เพน-ท่ะ-คึ่ล" หรือ "เพน-เท่อะ-คึ่ล" ก็ได้ทั้งนั้นครับ ส่วนการเขียนถอดคำคำนี้เป็นภาษาไทยให้ถูกหลักควรเป็นว่า "เพนทาเคิล" ไม่ใช่ "เพนตาเคิล" นะครับ...ว่าไปแล้วแม้การออกเสียงคำนี้จะไม่ยากนักสำหรับคนไทยเรา ถึงจะออกเสียงเพี้ยนนิดหน่อยก็ยังพอสื่อสารเข้าใจกันได้ครับ แต่คำนี้มีแง่มุมน่าสนใจในศาสตร์ไพ่พยากรณ์มากครับ ไว้คงได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไปครับ

และสำหรับคำว่า Cup หรือไพ่ชุดถ้วย คนไทยเราก็ออกเสียงไม่ค่อยเพี้ยนเช่นเดียวกัน เพียงแต่เวลาออกเสียงควรมีลมออกมาบ้างตรงตัวสะกด p ไม่งั้นเดี๋ยว "คัพ" จะกลายเป็น "คับ" ซะเปล่าๆนะครับ :P


ไพ่ยิปซี (Gypsy/Gipsy Cards)


หากพูดกันตามการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องแล้ว คำว่า "ยิปซี" นี้ต้องอ่านว่า "จิ๊บ-ซี" คือออกเสียงคล้ายตัว "จ-จาน" ไปเลยจะใกล้เคียงกว่าครับ (โดยเน้นเสียงหนักที่พยางค์แรกอีกเช่นกัน) ส่วนสาเหตุการอ่านเรียกไพ่ยิปซีที่เพี้ยนๆไปเช่นนี้ อาจจะคล้ายกันกับคำว่า Gym หรือ Gymnastic ที่คนไทยชอบพูดว่าไปเล่นยิมหรือยิมนาสติก แต่อันที่จริงการอ่านนั้นใกล้เคียงกับคำว่า "จิม" มากกว่าครับ (แต่ก็เป็นการอ่านแบบควบ "ย" ว่า "จยิม") อย่างไรก็ตามเพื่อให้เข้าใจกันในแง่ภาษาไทยที่คำนี้ได้รับการใช้กันอย่างแพร่หลายไปแล้ว จะใช้คำว่า "ยิปซี" ก็ไม่มีปัญหาใดๆครับ ...และตามระบบถอดคำภาษาไทยแล้ว ควรสะกดตัว ยิซี ด้วย ป-ปลา ไม่ใช่เป็น ยิซี ด้วย บ-ใบไม้นะครับ

และตามที่เคยกล่าวถึงในกระทู้ก่อนหน้าเรื่องชาวยิปซี ที่เชื่อกันว่าชนเผ่ายิปซีเป็นผู้นำการพยากรณ์ด้วยไพ่จากทางอียิปต์สู่ทางยุโรป ซึ่งในระหว่างนั้นการสะกดคำว่า Egypcian, Egipcian, จนย่อเหลือเพียงว่า 'gypcian .. จนกลายเป็นคำว่า gypcian และ Gypsy ในที่สุด ... คำว่า Egypt ตัวนี้ ควรอ่านออกเสียงว่า "อี-จิบ" คือเน้นเสียงหนักที่พยางค์แรก และเสียงพยางค์หลังเป็น "จ-จาน" ไปเลยครับ (หรือจะออกพยางค์หลังแบบ "จ" ที่มีเสียงควบ "ย" หน่อยๆในพยางค์ท้ายก็จะดีขึ้นอีกนิด) มากกว่าที่จะเป็น "อี-หยิบ" (แบบ ย-ยักษ์ ล้วนๆ) ด้วยนะครับ แต่ในการเขียนคำนี้ยังคงใช้คำว่า "อียิปต์" เนื่องจากใช้กันมานานแล้ว
http://en.wikipedia.org/wiki/Gypsy_%28term%29#Gypsy


ไพ่ออราเคิล (Oracle)

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คำว่า Oracle นี้คงออกเสียงกันไม่ยากแล้วนะครับ ...หากจะออกเสียงคำนี้ให้ชัดต้องเป็น "ออ(ร)-อะ-คึ่ล" คือเน้นเสียงหนักที่พยางค์แรก ที่เหลือก็ออกเบาๆกึ่งเสียง โดยท้ายของพยางค์แรกจะมีตัว r ไปควบกับพยางค์ที่สอง ทำให้ออกเสียงเป็น ออ-ระ-คึ่ล เวลาเขียนในภาษาไทยที่คุ้นๆกัน(เนื่องจากเป็นศัพท์ทางคอมพิวเตอร์ด้วย) และตามระบบถอดคำราชบัณฑิตยสถานจึงควรสะกดเป็น "ออราเคิล" (หรือจะสะกดตามเสียงอ่านแบบอเมริกันว่า "โอราเคิล" ก็พอจะกล้อมแกล้มได้ครับ)
ตัวละคร The Oracle ที่แสดงโดยนักแสดงสองท่าน จากภาพยนตร์เรื่อง Matrix
กับเนื้อหาที่ผนวกแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ตลอดจนพุทธศาสตร์ ได้อย่างลงตัว


อ้างอิง

ส่วนเนื้อหาวิธีการอ่านต่างๆ เหล่านี้ ก็ได้รวบรวมมาจากเว็บไซท์พจนานุกรมออนไลน์หลายๆแห่งนะครับ หาใช่ว่าผมเป็นผู้ชำนาญภาษาอังกฤษหรือใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องปรื๋อแต่อย่างใด โดยเว็บภาษาอังกฤษที่ผมใช้ประจำ ได้แก่
http://www.thefreedictionary.com/
http://dictionary.cambridge.org/
http://www.dictionary.com/
โดยสองเว็บแรกจะมีวิธีออกเสียงทั้งระบบอเมริกันและอังกฤษ ส่วนเว็บล่างไม่ได้ระบุสำเนียง แต่จะมีคำอ่านง่ายๆให้ดูตามอยู่ด้านหลังคำศัพท์ครับ และที่สะดวกดีมากๆคือเว็บพวกนี้สามารถนำมาตั้งค่าในกล่องค้นหาให้เป็น Search Engine ในอินเทอร์เน็ทบราวเซอร์ (Internet Browser) ของทั้ง Internet Explorer และของ Firefox ได้ด้วยนะครับ ซึ่งทำให้การค้นหาคำศัพท์และวิธีการออกเสียงต่างๆ เป็นไปได้โดยง่าย และไม่ต้องพิมพ์ชื่อเว็บไซท์ทุกครั้งที่ต้องการจะค้นหาศัพท์ครับ

ส่วนเรื่องการถอดเสียงและทับศัพท์ต่างๆ นำมาจากข้อมูลของราชบัณฑิตยสถานนะครับ (แต่อ้างอิงจากวิกิพีเดียอีกที เพราะเว็บราชบัณฑิตยสถานโดยตรงเห็นมีคำเตือนสปายแวร์ขึ้นมาน่ะครับ ~~>_<)
http://th.wikipedia.org/wiki/การถอดเสียงภาษาอังกฤษ
http://th.wikipedia.org/wiki/การเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
http://th.wikipedia.org/wiki/การเขียนคำทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
.. แม้โดยส่วนตัวจะเห็นว่าการถอดคำบางแบบสมควรปรับปรุงก็ตาม เช่น Thoth ควรเป็น "ธ็อธ" หรือ "ธอธ" มากกว่าที่จะเป็น "ทอท" หรือ "ท็อท" เป็นต้น เพราะมีส่วนทำให้คนไทยเราออกเสียงบางคำแบบผิดๆไปได้เหมือนกัน... ว่าไปก็นึกถึงการอ่านคำว่า Tarot ในภาษาญี่ปุ่นที่จะเป็นว่า ทา-โร-โตะ :P


แถมท้ายกับภาษาไทยที่มักใช้กันผิด

ไหนๆ ก็พูดถึงการอ่านภาษาอังกฤษกันไปแล้ว .. มีจุดสังเกตอีกหน่อยในคำศัพท์ภาษาไทยที่มักใช้กันผิดๆ ในวงการไพ่พยากรณ์นะครับ

การสับไพ่ (Shuffle) มีหลายวิธีด้วยกัน แต่ที่เราคุ้นเคยและเรียกใช้กัน(ผิด)บ่อยๆ คือ
  • การสับไพ่แบบ Over Hand Shuffle บ้างก็เรียกว่า Lacing ซึ่งแบบนี้มักเข้าใจกันและเรียกกันว่าการสับไพ่เฉยๆ โดยขั้นตอนคือ (กรณีถนัดขวา) มือข้างซ้ายทำเป็นอุ้งเพื่อจับพยุงสำรับไพ่ไว้ทั้งหมด แล้วมือข้างขวาก็จับแบ่งไพ่บางส่วนจากด้านล่างของกองไพ่ทั้งหมด นำมาสลับไว้ทางด้านบน โดยค่อยๆปล่อยให้ไพ่บางส่วนทางด้านบนในมือขวา เลื่อนไหลตกลงไปกองรวมกันกับกองไพ่ในมือซ้าย จากนั้นนำไพ่ส่วนที่เหลือในมือขวามาวางสลับซ้อนด้านบนของกองในมือซ้าย และทำซ้ำไปเรื่อยๆจนไพ่ทั้งหมดรวมกันอยู่ในมือซ้าย.. หากนึกภาพไม่ออกดูจากคลิปวิดิโอด้านล่าง (ดูแต่ภาพ แม้ไม่ต้องฟังก็เข้าใจตามได้ง่ายครับ) ซึ่งได้จากเว็บ TheCardMechanic.Com ตามลิงค์นี้ครับ http://www.youtube.com/watch?v=DoSWeocehwM 
  • การสับไพ่แบบ Riffle Shuffle หรือที่ภาษาไทยเราควรเรียกกันให้ถูกต้องว่า "การกรีดไพ่" ครับ  ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ชัดเจนเลยว่า
    • กรีดไพ่: (เป็นคำกริยา) สับไพ่ป๊อกโดยวิธีแยกไพ่ออกเป็น ๒ ส่วน ใช้มือแต่ละข้างจับไพ่แต่ละส่วนไว้ แล้วใช้ที่หัวแม่มือระไพ่แต่ละใบให้ล้มทับสลับกันจนหมดแล้วผลักรวมเข้าด้วยกัน.
    • โดยคำว่า "ระ" แปลได้ว่า: (เป็นคำกริยา) กระทบเรียดไป เช่น เอาไม้ระรั้วสังกะสี หรือเฉียดแบบผิวๆ
    • โดยในขั้นตอนหลังจากกรีดไพ่ หากไม่ผลักรวมเข้าด้วยกันตามนิยามด้านบนแล้ว บางทีจะงอไพ่ขึ้นมาให้ออกมาในลักษณะสะพานโค้งๆ และปล่อยให้ไพ่ค่อยๆตกลงมารวมกันก่อนผลักเข้ารวมกัน
    • หากยังนึกภาพไม่ออกไปดูกันชัดๆในคลิปด้านล่าง ที่ได้จากเว็บไซท์ยูทูวบ์ของ TheCardMechanic.Com เช่นกันครับ http://www.youtube.com/watch?v=1Y_IftLdCWw 
ส่วนการคลี่ไพ่นั้นเรียกว่า Fanning (หรือกริยาคือ Fan) คือการวางไพ่ที่ใช้มือจับกองสำรับไพ่ปาดวางเรียงกันบนโต๊ะ อาจคลี่ออกมาเป็นเส้นตรง เป็นรูปครึ่งวงกลม รูปตัว S หรือรูปต่างๆ โดยจะคลี่บนมือหรือคลี่บนโต๊ะก็ล้วนเรียกว่าการคลี่ไพ่ทั้งนั้น โดยจุดประสงค์หลักของการคลี่ไพ่นั้นก็เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกไพ่บางใบออกจากกองไพ่ทั้งหมดได้ โดยคำว่า "คลี่" ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า ก. คลายสิ่งที่ม้วนหรือพับอยู่ เช่น คลี่ผ้า คลี่มวยผม, ทำให้แผ่ออก เช่น คลี่พัด คลี่ไพ่, ขยายออก เช่น ดอกไม้คลี่กลีบ.

คำเตือน การสับไพ่ที่เรียกว่ากรีดไพ่ (Riffle Shuffle) มีส่วนทำให้ไพ่บิดงอเสียง่ายนะครับ ควรคำนึงถึงสภาพสำรับไพ่แต่ละแบบด้วยนะครับ บางสำรับไม่สามารถงอได้เลยก็มี

ทราบกันอย่างนี้แล้ว ต่อไปอย่าเผลอใช้คำว่า "คลี่ไพ่" กับคำว่า "กรีดไพ่" สลับกันนะครับ ;)

8 ความเห็น:

Peterito กล่าวว่า...

อิอิ คราวนี้มาในมาดของคุณครูภาษาอังกฤษนะครับคุณ HE ผมอ่านว่า ทาร็อท มาโดยตลอดเลย แหะๆ แบบนี้ก็ผิดนะสิครับ ต้องโทษที่ภาษาอังกฤษเองนะที่ดันอ่านแปลกๆเขียนอย่างดันไปอ่านอีกอย่าง อย่างตัวนี้จำจนตายแน่เลย (รำไม่ดีโทษปี่โทษกลองไปเอง)

read [หรี๊ด]read[เรด] ดูๆๆภาษาอังกฤษทำไปได้

ขอบคุณครับ ต่อไปนี้จะได้อ่านว่า ทาโรว.......

ภาษาอังกฤษง่ายนิดเีดียวจริงๆๆ เพราะที่เหลือมันยาก and มาก

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

เปลี่ยนแนวบ้างครับ หวังว่าคงไม่น่าเบื่อจนเกินไป
ขอบคุณคุณ Peterito มากนะครับที่แวะมาเยี่ยมชมบล็อก และให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมเป็นกำลังใจ (บล็อกเงียบมาหลายวันแล้วครับ -_-")

ปล. ผมว่าสเปนท่าทางจะยากกว่ากระมังครับ :P

Peterito กล่าวว่า...

คนที่ได้ภาษาอังกฤษด้วยได้เปรียบมากเลยครับ กับการศึกษาสมัยนี้นะครับสำคัญจริงๆ อ่านหนังมือของสำรับแฟรี่ขนาดเป็นนิทาน หัวก็แทบแตกแล้วครับ อิอิ พออ่านพอเข้าใจก้มางงกับไวยกรณ์เข้าไปอีก "ทำไมต้องใช้กาลนี้ เขาต้องการสื่ออะไรนะ" เนี่ยแหละครับปัญหาของผม

หลังๆมา ชอบไพ่ Lenormand มากครับ คู่มือก็ภาษาอังกฤษอีกละ - -"
โอ้ยๆๆๆ.... อะไรๆก็เป็นภาษาอังกฤษๆๆๆๆๆๆ จะเป็นลมแล้วๆๆๆๆๆ ทำไงดีครับ เรียนมาแต่อ้อนแต่ออก ป่านนี้ฝรั่งถามทางยังใบ้กินเลยครับ อิอิ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

แต่ถ้าจะให้ดี คงต้องเป็นภาษาฝรั่งเศสนั่นล่ะครับ เพราะแหล่งความรู้ไพ่เลอนอร์มองด์ที่เป็นภาษาอังกฤษยังค่อนข้างจำกัดครับ ที่ศึกษาอยู่นี่หลายครั้งก็ต้องแปลจากภาษาอื่นๆกลับเป็นอังกฤษอยู่เหมือนกันครับ

ปล.
เห็นคุณ Peterito สนใจ Mystical Lenormand ไว้ว่างๆเดี๋ยวส่งรูปถ่ายตัวเป็นๆให้ดูเล่นครับ :P

Peterito กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ เนี่ยผมว่าจะสะสมไพ่ Lenormand ด้วยครับ (ถ้ามีโอกาสนะครับ) เพราะสวยๆอยู่เหมือนกัน ประมาณสามสี่สำรับครับ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ส่งลิงค์ไปให้ชมเล่นๆแล้วนะครับ :)

ปล. ยังมีเลอนอร์มองด์อื่นอีกสามสี่สำรับแต่ไม่ได้อัพโหลดไว้ กะไว้ว่าคงจะมีเพิ่มอีกซักสามสี่สำรับครับ แต่ว่าไปเลอนอร์มองด์ไม่ค่อยหลากหลายเท่าทาโรท์ครับ (หมายถึงหน้าตาไพ่นะครับ ไม่ได้หมายถึงการใช้งาน)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณณธัชพงศ์ มีความรู้ดีๆ มาให้ตลอด ขอบคุณมากครับ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ด้วยความยินดีครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านเช่นกันครับ

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น