1 พฤศจิกายน 2553

ความต่างของไพ่พยากรณ์ (๒/๒): ไพ่ทาโรต์ ไพ่ยิปซี ไพ่ออราเคิล และไพ่ป๊อก (Differences between Tarot, Oracle and Playing Cards - 2/2)

มาต่อกันในช่วงท้าย ในเรื่องของไพ่พยากรณ์แต่ละประเภทกันนะครับ
(คลิกเพื่ออ่าน บทความในช่วงแรก เน้นในส่วนของไพ่ป๊อกและไพ่ทาโรต์ และ บทความต่อเนื่องเพื่ออ่านเขียนและใช้ภาษาไทยและอังกฤษด้านไพ่พยากรณ์ให้ถูกต้อง)

ไพ่ออราเคิล (Oracle)

เนื่องด้วยคำว่า Oracle นี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยกันนัก ดังนั้นก่อนอื่นเรามาดูความหมายของคำนี้กันก่อนนะครับ ตามพจนานุกรมของสอเสถบุตรได้ให้คำแปลไว้ว่า คำทำนายปริศนา, ถ้อยคำที่พระผู้เป็นเจ้าดลบันดาลให้ปรากฎออกมา หรือถ้อยคำที่พระพุทธองค์หรือพระพุทธรูปดลบันดาลให้ปรากฎออกมา เช่น เซียมซี, เทพพยากรณ์; คนทรงเจ้า, ผู้ทำนายที่ศักดิ์สิทธิ์, สถานที่ทำการบูชาและเสี่ยงทาย และตามพจนานุกรมของ NECTEC's Lexitron Dictionary คือคำทำนาย, คำพยากรณ์ และผู้ให้คำปรึกษา และหากอิงตามความหมายจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษอื่นๆ ตาม Cambridge, Oxford หรือของ Collins จะรวมความแล้วหมายถึง "ตัวบุคคล" คือผู้รอบรู้ผู้มีปัญญา หรือผู้ล่วงรู้อนาคต ตลอดจนถึงผู้ที่สามารถติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ และยังสามารถหมายถึง "สถานที่" ที่บุคคลนั้นๆใช้ติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ รวมทั้ง "สาร" ที่บุคคลนั้นๆสื่อออกมาก็ได้

ตัวอย่างไพ่อี้จิง ซึ่งเป็นไพ่ออราเคิลแบบหนึ่ง
สำรับไพ่ชื่อว่า I-Ching Holitzka
ไพ่ออราเคิลเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันสำหรับกลุ่มสำรับไพ่ที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการพยากรณ์โดยตรง ใช้เพื่อดูดวง ทำนายอนาคต วิเคราะห์เรื่องราวหรือสภาวะจิตใจ ฯลฯ บางสำรับถูกดัดแปลงจากไพ่ป๊อกบ้างจากไพ่ทาโรต์บ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ ด้วยการออกแบบไพ่ออราเคิลนั้นมีความอิสระสูง ไม่มีรูปแบบตายตัว ไม่จำกัดโครงสร้าง จึงไม่จำเป็นต้องมีแยกเป็นชุดใหญ่กับชุดเล็ก ไม่ต้องแยกตามชุด (Suits) หรือตามหมวดธาตุ (Elements) ไม่จำเป็นต้องมีชุดบุคคล (Court Cards) หรือแม้แต่ไม่ต้องมีแม้แต่ตัวเลขกำกับ หน้าไพ่แต่ละใบมีเพียงภาพหรือสัญลักษณ์เท่านั้น บางสำรับอาจมีเพียงข้อความสั้นๆโดยไม่มีรูปภาพใดๆก็ยังได้!!! ถึงกระนั้นไพ่บางสำรับอาจถูกออกแบบให้จัดแยกกันเป็นชุดๆหรือเป็นหมวดหมู่เฉพาะขึ้นมาใหม่ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันด้วยรูปแบบที่อิสระกว่า ไพ่ออราเคิลนี้จึงไม่จำกัดวิธีการอ่าน แนวคิด กลุ่มบุคคล หรือสถานการณ์ที่ใช้ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของสำรับนั้นๆ ..ทว่าโดยส่วนใหญ่มักจะ
  • ได้รับการกำหนดเนื้อหาเฉพาะ (Themes) ของสำรับนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ภูตพราย (Fairy) อี้จิง (I-Ching) สัตว์ทั้งในเทพนิยายหรือสัตว์ในโลกปกติ เหล่าเทพเทวดาต่างๆ (Angels หรือ Astral Beings) ที่อิงตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ ฮินดู ฯลฯ หรืออิงตามความเชื่อในแถบกลุ่มประเทศและวัฒนธรรมที่ต่างกันไป
  • มีกลุ่มเป้าหมายหรือเฉพาะ เช่น เจาะในประเด็นเรื่องความรักความสัมพันธ์เป็นหลักดังไพ่ทำนายรักที่เคยนำเสนอไป 
  • พัฒนาจากองค์ความรู้ของชนชาติใดชนชาติหนึ่งหรือวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งไว้  
  • อย่างไรก็ตามบางสำรับอาจนำองค์ความรู้จากหลายๆวัฒนธรรมมาผสมเข้าไปในสำรับได้ด้วยเช่นกัน ผูกหลายเรื่องราว หรือครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และแม้กระทั่งสามารถสะท้อนสภาวะจิตใจ ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ หรือใช้ในการทำนายพยากรณ์ทั่วไปเช่นเดียวกันกับไพ่ทาโรต์

ดังนั้นในทางกลับกันเราจึงสามารถกล่าวได้ว่า โดยหลักการแล้วไพ่ทาโรต์(ที่นำมาใช้ในการพยากรณ์) ก็คือไพ่ออราเคิลรูปแบบหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่จัดเป็นไพ่ออราเคิลที่ได้รับการวางระบบไว้เป็นมาตรฐาน และได้รับความนิยมและรู้จักกันแพร่หลายทั่วโลกเท่านั้นเอง

สำหรับตัวอย่างสำรับไพ่ออราเคิลของคนไทยที่คุ้นๆกันก็อย่างเช่นไพ่พรหมญาณ หรือล่าสุดกับไพ่ออราเคิลชุดจุดเทียนของคุณสมบูรณ์สุข ซึ่งคาดว่าคงจะได้มีรีวิวไพ่ออราเคิลสำรับนี้ให้ได้อ่านกันเร็วๆนี้... รอติดตามชมกันนะครับ ;)

คลิกบทความไพ่ออราเคิล เพื่อชมรีวิวสำรับไพ่หรือรายละเอียดเพิ่มเติมของไพ่ออราเคิลในบล็อก "ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์" หรือดูตัวอย่างกลุ่มสำรับไพ่ออราเคิลบางส่วนเพิ่มเติมได้ที่ http://www.aeclectic.net/tarot/cards/oracles.shtml


ไพ่ยิปซี (Gypsy Cards)

เป็นคำเรียกที่เข้าใจกันคลาดเคลื่อนและอาจจะเฉพาะในหมู่คนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจกันว่า "ไพ่ยิปซี" คือ "ไพ่ทาโรต์" ทั้งๆที่จริงๆแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่ด้วยการอิงความเชื่อที่เล่าขานกันมาว่าชนเผ่าเร่ร่อนกลุ่มที่ถูกเรียกว่ายิปซี (บางแห่งอาจระบุความเกี่ยวพันถึงชาวโรมานี Romani ทว่าไม่ใช่ชาวโรมานีทุกกลุ่มจะถูกเรียกว่าชาวยิปซี) เป็นผู้เผยแพร่การใช้ไพ่พยากรณ์จากอินเดีย อียิปต์ ผ่านเข้าสู่ยุโรป จึงมีส่วนทำให้เรียกไพ่พยากรณ์ประเภทต่างๆเช่นไพ่ทาโรต์ว่าไพ่ยิปซีกันหมด ปัจจุบันความหมายของคำว่ายิปซียังอาจสื่อได้ในแง่ของสไตล์แฟชั่นการแต่งตัว แทนที่จะระบุถึงเชื้อชาติตามพื้นเพเดิมเพียงอย่างเดียว

ว่าไปแล้วประเด็นที่ว่าชาวยิปซีมีความชำนาญในศาสตร์พยากรณ์นี้เป็นเรื่องที่กล่าวถึงทั่วโลก จนได้ถูกนำมาใช้เป็นจุดขายในการโฆษณาสำรับไพ่ด้วยเช่นกัน ที่ทำให้ดูราวกับว่ามีสำรับไพ่พยากรณ์ที่ถูกออกแบบ และใช้ดูดวง ดูอนาคตกันในหมู่ชาวยิปซีจริงๆ เรียกกันว่า Gypsy Cards หรือ Gypsy Fortune Telling Cards และอีกหลากหลายชื่อที่คล้ายคลึงกันในภาษาต่างๆ ซึ่งไม่ว่าสำรับไพ่ยิปซีในกลุ่มนี้จะถูกสืบทอดมาจากชาวยิปซีจริงๆ หรือจะถูกขนานนามเพื่อสร้างจุดขายเท่านั้น แต่สำรับดังกล่าวก็ได้แตกเทือกเถาเหล่ากอพัฒนาต่อมาในประเทศแถบยุโรป ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีระบบไพ่พยากรณ์ของพื้นที่นั้นๆ ผสมผสานเข้าไปด้วย จนพัฒนาเป็นระบบไพ่พยากรณ์ที่มีแนวทางการทำนาย มีองค์ประกอบ และโครงสร้างของระบบไพ่ รวมทั้งรูปร่างหน้าตาไพ่เฉพาะตัวตามแต่ประเทศหรือตามแต่สำรับไพ่นั้นๆ


สำรับไพ่ยิปซีที่คล้ายคลึงและอิงกันในกลุ่มนี้ เช่น พวก Sibilla, Kipper, Zigeuner หรืออย่าง Lenormand ที่เคยนำเสนอรีวิวสำรับหนึ่งแบบสั้นๆไป และยังมีรูปแบบอื่นๆอีกหลากหลาย... ไพ่พยากรณ์หรือไพ่ทำนาย (Fortune Telling Cards) ในแบบที่เรียกกันว่าไพ่ยิปซีกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะมีขนาดมาตรฐานที่ค่อนข้างเล็ก คือประมาณ 2.25x3.5 นิ้ว หรือประมาณ 56x88 มิลลิเมตร ตามขนาดของไพ่ป๊อกที่ใช้ในการเล่นเกมส์ไพ่อื่นๆ เช่น เกมส์ไพ่บริดจ์ (Bridge) และมักมีจำนวนไพ่ภายในสำรับ 32 หรือ 36 ใบ เท่ากับจำนวนไพ่ที่ใช้ในการเล่นเกมส์ไพ่ต่างๆของทางยุโรปซึ่งจะตัดไพ่บางใบของแต่ละชุด(Suit)ออกไป เช่น เกมส์ไพ่พิเกท์ (Piquet) ในขณะที่บางสำรับก็อาจมีจำนวนไพ่ครบ 52 ใบเท่ากับจำนวนไพ่ในสำรับไพ่ป๊อกปกติ เป็นต้น


สรุปความแตกต่างของไพ่พยากรณ์

สำรับ Russian Gypsy Fortune Telling Cards
กับวิธีการอ่านไพ่เฉพาะตัว ด้วยการหมุนไพ่แต่ละใบ
และอ่านความหมายไพ่เฉพาะสัญลักษณ์ที่ขอบไพ่ต่อเป็นรูปเต็มได้
ดังนั้นโดยสรุปแล้วหากจะให้จัดกลุ่มกันจริงๆ คำว่า "ไพ่ยิปซี" ดูจะเข้ากันกับความหมายของคำว่า "ไพ่ออราเคิล" มากกว่าที่จะนำไปใช้แทนคำว่า "ไพ่ทาโรต์" ครับ ดังนั้นในบทความที่ผ่านมาและต่อๆไปในอนาคตของเว็บบล็อก "ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์"นี้ จะใช้คำว่าไพ่ออราเคิลและไพ่ยิปซีสองคำนี้สลับกันไปมาบ้างนะครับ ส่วนคำว่าไพ่ทาโรต์ก็จะใช้เรียกต่างหากแยกออกไปเลย และหากจะลองนิยามคำว่า "ไพ่ออราเคิล" ให้เป็นภาษาไทย อาจเรียกกลุ่มไพ่เหล่านี้รวมๆกันว่า "ไพ่ทำนาย" หรือ "ไพ่พยากรณ์" คงจะดีกว่า มิเช่นนั้นเมื่อเรากล่าวถึงกลุ่มไพ่พยากรณ์ที่ใช้ศาสตร์ทางตะวันออกเข้ามาประยุกต์ด้วย เช่น อี้จิง (I-Ching) ว่าไพ่ยิปซีอี้จิง คงฟังตลกน่าดูว่าตกลงจะเอาชาติไหนกันแน่ :)

สุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึง คือในส่วนของการพยากรณ์แล้ว ไม่ได้จำกัดว่าจำนวนไพ่เยอะกว่าจะให้คำตอบได้ดีกว่า ไม่ใช่ว่าไพ่ทาโรต์จะแม่นยำหรือครอบคลุมกว่าไพ่ออราเคิลหรือกลับกันไม่ใช่ไพ่ออราเคิลแม่นกว่าไพ่ทาโรต์ และไม่ใช่ว่าสำรับไพ่ออราเคิลหรือไพ่ทาโรต์ประเภทใดหรือสำรับหนึ่งสำรับใดจะดีกว่าสำรับอีกระบบหรืออีกประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยหลายประการ ทั้งความชำนาญของนักทำนาย สถานการณ์หรือเรื่องราวที่สนใจ ความชอบและอารมณ์ส่วนบุคคลทั้งของผู้ทำนายและผู้รับคำทำนาย ระยะเวลา สถานที่ สภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ
Oracle of Shadows & Light
กับหน้าไพ่ในแบบที่คล้ายตุ๊กตาบลายธ์

ในทำนองเดียวกันจำนวนสำรับไพ่หรือประเภทสำรับไพ่ที่ใช้ ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความแม่นยำของผลการทำนาย บางท่านใช้เพียงสำรับเดียวประเภทเดียวก็ตอบได้ทุกคำถามทุกสถานการณ์ ขณะที่บางท่านใช้หลายสำรับหลายระบบหลายประเภทในการพยากรณ์ร่วมกันในคราวเดียวพร้อมกันก็ยังมี อาจจะเพื่อให้ได้แง่มุมที่แตกต่างหรืออาจจะเพียงแค่เพราะอารมณ์อยากใช้ก็ยังได้ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าใครดีหรือด้อยกว่ากัน เรื่องแบบนี้คงต้องขึ้นอยู่กับสไตล์การทำนายของแต่ละคนนั่นล่ะครับ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งคงจะไปถึงระดับที่ว่ามีไพ่ก็เหมือนไม่มี เหมือนหนังจีนกำลังภายในสุดท้ายแค่เพียงต้นอ้อก็ใช้แทนกระบี่ได้ หรือไม่มีแม้แต่ต้นอ้อหรือวัตถุใดๆก็ยังได้ ...อ้าว..ออกทะเลไปไกลซะงั้น :P ...ว่างๆไว้จะลองโพสท์ตัวอย่างการอ่านพร้อมกันสองสามระบบ คาดว่าคงจะมันส์ดีครับ

(อืม.. บทความนี้รู้สึกได้ฝากประเด็นที่จะเขียนงวดหน้าไว้เยอะเลย... เริ่มที่ตรงไหนก่อนดี???)

12 ความเห็น:

Peterito กล่าวว่า...

Russian Gypsy Fortune Telling Cards เคยคิดจะซือเหมือนกันนะครับ รู้สึกว่าแปลกดี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เพราะคิดว่าเราคงใช้ไม่เป็น มาดูตอนนี้ราคาหลักพันแล้ว

ขอบคุณครับ

จะมีเรื่องอะไรมาให้อ่านอีกนะๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

Russian Gypsyฯ มีดีตรงวิธีใช้แปลกนี่ล่ะครับ ส่วนการแปลความ การใช้งานอื่นๆ คงมีแต่เฉพาะคู่มือเป็นหลัก รวมทั้งความรู้ที่จะได้เพิ่มเติมจากผู้ใช้คนอื่นๆน่าจะจำกัดในวงแคบ หากเทียบกับสำรับไพ่ออราเคิลหรือไพ่ยิปซีอื่นๆ.. อย่างไรก็ตาม(เท่าที่อ่านมา)การใช้งานไม่ยากอย่างที่คิด หากคุ้นกับไพ่ออราเคิลแบบอื่นๆแล้วยิ่งไม่ยากเข้าไปใหญ่ครับ เพียงแค่พลิกๆหมุนๆแล้วก็อ่านตามนั้น .. ข้อดีอีกอย่างคือไพ่สวย ทว่าคุณภาพกระดาษไพ่เท่าที่อ่านๆมาจัดว่าไม่ค่อยดีครับ

บทความต่อไปคงต้องรอติดตามกันนะครับ แนวโน้มน่าจะเป็นรีวิวสำรับไพ่(ที่ยังไม่เคยโพสท์มาก่อนครับ) ;)

Dear กล่าวว่า...

ชอบคำว่า Oracle ค่ะ รู้สึกว่าเป็นคำที่ไพเราะ แล้วมีความหมายเบื้องลึกจากการอ่านคำ มันเหมือนเป็น วงๆ ลึกๆ ใสๆ มีตัวหนังสือมากมาย วิงค์ๆเต็มไปหมด 5555+ เพ้อเจ้อไม๊คะ แต่อ่านคำนี้แล้วรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ให้สงสัยว่า การอ่านความรู้สึกจากสิ่งอื่น เสี่ยงทายจากอะไรก็ได้รอบตัวถือเป็น oracle ไม๊น๊า *_*

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

หากดูตามนิยาม แม้ไม่ต้องเสี่ยงทายด้วยอุปกรณ์อะไรเลย ก็นับเป็นออราเคิลได้แล้วครับ... นึกถึง The Oracle ในหนัง The Matrix เลย

ปล.1
อย่างที่คุณเดียร์เล่ามาเกี่ยวกับการอ่านคำๆนี้แล้วรู้สึกเช่นนั้น ไม่เพ้อเจ้อหรอกครับ จัดเป็นออราเคิลแบบหนึ่ง แถมยังสามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกัน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า Clairvoyant http://en.wikipedia.org/wiki/Clairvoyance

ปล.2
บางคนรับรู้สัมผัสแบบหนึ่ง แต่เกิดอาการในประสาทสัมผัสอีกแบบก็ได้ เช่น อ่านคำนี้แล้วรู้สึกมีรสหวานๆ ฝาดๆ หรือเปรี้ยวๆที่ลิ้น หรือได้ยินเป็นเสียงเพลงบรรเลงแบบต่างๆ เป็นต้น

Dear กล่าวว่า...

แหะๆ สนใจจะแปลลิ๊งค์นี้ลงบล๊อกไม๊คะ อยากอ่านจริงๆ แต่ว่า...ภาษาอังกฤษทั้งนั้นเลย แต่ก็ขอบคุณมากค่ะ เป็นความรู้ที่หากว่าไม่แปลลงบล๊อก เดียร์ก็จะพยายามอ่านเองค่ะ เพราะรู้สึกสนใจ แต่ถ้ามีคนใจดีแปลให้ก็คงจะดีไม่น้อยเชียว >_<

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

เกรงว่าหากแปลหมดทุกตัวอักษร ลงรายละเอียดทุกเรื่อง จะน่าเบื่อมากเกินไปครับ.. ถ้าจะให้ดีคงต้องแตะๆแบบคร่าวๆแต่ครอบคลุมไปทั้งหมด จะได้ได้เนื้อหาครบๆ ทั้งเรื่อง ESP (Extrasensory Perception) หรือที่คุ้นๆกันว่า "สัมผัสพิเศษ"ในแบบต่างๆ จนถึงงานวิจัยต่างๆช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น แล้วหากใครสนใจรายละเอียดค่อยศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเอง.... อย่างไรก็ตามโครงการแปลแบบนี้ คงต้องต่อคิวยาวล่ะครับ คุณเดียร์ทำก่อนได้เลยนะครับ ^_^

Dear กล่าวว่า...

55555555555+ คงไม่สามารถ เดียร์รอคุณคงจะดีกว่า ภาษาอังกฤษแค่พอกระดิกที่ปลายรูขุมขน คงไม่สามารถ รอค่ะๆๆๆๆๆ อยากทราบมากๆ ขอบคุณล่วงหน้านะคะ แปลไม่ค่อยสันทัดจริงๆ แหะๆ ^_^

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณนะค่ะ ที่นำความรู้มาแบ่งปัน เพราะ มันก็คงไม่ง่ายที่จะต้องแปลและเรียบเรียงทุกสิ่งทุกอย่างออกมาเป็นตัวหนังสือ เพื่อที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจในสิ่งที่คุณณธัชพงค์ต้องการสื่อความหมาย แต่ดิฉันคิดว่าทุกคนที่แวะเข้าที่นี่แล้วไม่ผิดหวังค่ะ ได้ความรู้กลับไปแน่นอน

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมบล็อกด้วยนะครับ เพราะตั้งใจให้ทุกๆท่านได้อ่านได้รู้กันเยอะๆนั่นล่ะครับ.. ยิ่งแสดงความคิดเห็นด้วยแบบนี้ ยิ่งเสมือนเป็นกำลังใจให้เจ้าของเว็บบล็อกไปด้วย เพราะจะได้ช่วยให้ทราบด้วยว่ามีผู้ได้เข้ามาอ่านกันจริงๆ และได้อะไรกลับไปบ้าง เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงบทความในครั้งต่อๆไปให้ดีขึ้นด้วยน่ะครับ ^_^

Peterito กล่าวว่า...

คุณ HE มีสำรับนี้หรือปล่าวครับRussian Gypsy Fortune Telling Cards ดูไปดูมาเริ่มอยากจะได้ แต่ดันไปติดใจตรงที่ว่ากระดาษไม่ดีเท่าไร คุณ HE ได้ทดลองใช้ไหมครับ เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเทียบกับ Lemormand

อยากสอบถามความเห็นหลายๆท่านก่อนตัดสินใจครับ เห็นที่ร้านคิโน ขายอยู่ที่พันกว่าบาท ถ้าน่าสนใจผมจะสั่งที่เป็นภาษาอื่นมาแทนราคาแพงว่า 200 แต่น่าจะอ่านเข้าใจมากกกว่าครับ

Peterito กล่าวว่า...

เอ............แต่ดูไปดูมามันเหมือน Lenormand ใช่ไหมครับ เพียงแต่มันต้องเอาภาพมาต่อกัน น่าสนๆๆครับ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

ไพ่ชุด Russian Gypsy นี้ยังไม่มีครับ เพราะเห็นว่ากระดาษไม่ดี ..แถมด้วยความเป็นไพ่ออราเคิลและวางตลาดมานานแล้ว แต่ราคาก็พอๆกับไพ่ออกใหม่ เลยขอข้ามไปก่อนครับ ยังไม่ค่อยอยากเรียนรู้ระบบอะไรใหม่ช่วงนี้นัก ชักไม่ค่อยทันแล้วครับ ^_^

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น