12 พฤศจิกายน 2553

สัดส่วนสำรับไพ่ออราเคิลจุดเทียน โดยสมบูรณ์สุข ๒/๓ (Oracle Cards - Somboonsuk: Part Two)

มาถึงช่วงที่สองของบทความรีวิวสำรับไพ่ออราเคิลชุดจุดเทียนโดยคุณสมบูรณ์สุข งวดนี้เรามาต่อกันที่คุณลักษณะภายนอกของตัวสำรับไพ่ออราเคิลชุดนี้กันนะครับ สำหรับท่านที่พลาดบทความในช่วงแรก สามารถติดตามได้ในหัวข้อ เปิดกล่องไพ่ออราเคิลจุดเทียน เพิ่มเติม บทความช่วงท้ายของรีวิวในหัวข้อ พยากรณ์ด้วยไพ่ออราเคิลจุดเทียน

คุณลักษณะภายนอกตัวสำรับไพ่จุดเทียน


ขนาดสัดส่วนไพ่

ขนาดสัดส่วนไพ่คือ 7.0 x 11.4 เซนติเมตร และความหนาเมื่อวางซ้อนกันทั้งสำรับเต็ม 75 ใบ คือประมาณ 3.2 เซนติเมตร น้ำหนักสำรับไพ่ออราเคิลชุดจุดเทียนนี้ (ไม่รวมกล่อง) ตกประมาณ 220-230 กรัม (หมายเหตุ ความละเอียดของตาชั่งที่บ้าน ชั่งได้ทีละ 10 กรัมครับ -_-")
ด้านหน้าและหลังของไพ่ออราเคิลชุดจุดเทียน พร้อมสัดส่วน
กรอบภาพหน้าไพ่เป็นสีน้ำเงินเข้มออกกรมท่า ส่วนด้านหลังไพ่ใช้ภาพ "จุดเทียน" ตามชื่อสำรับไพ่และเป็นหนึ่งในหน้าไพ่ภายในสำรับด้วยเช่นกัน ทว่าภาพถูกปรับให้เป็นโทนสีน้ำเงินให้ดูกลมกลืนกับกรอบด้านหน้า ซึ่งด้วยความกว้างของตัวกรอบจากขอบภายนอกถึงภาพหน้าไพ่ที่ไม่มากนัก (ประมาณ 4 มิลลิเมตรในขอบด้านบนและด้านข้างของตัวไพ่ และประมาณ 7 มิลลิเมตรในขอบด้านล่าง) ทำให้สามารถชื่นชมกับรูปหน้าไพ่ได้เต็มที่ครับ รูปแต่ละใบสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ไม่ได้เป็นรายละเอียดเล็กมากจนถึงขั้นต้องหรี่ตามอง

ด้วยขนาดและสัดส่วนที่เห็นตรงนี้นี่ แม้ว่าความกว้างและยาวของไพ่แต่ละใบจะค่อนข้างเท่ากับขนาดมาตรฐานของไพ่ทาโรท์ปกติเนัก แต่บางท่านคงรู้สึกได้ว่าไพ่ชุดจุดเทียนทั้งปึกนี้มีขนาดที่หนากว่าสำรับไพ่ทาโรท์ทั่วไป และอาจเกรงว่าจะทำให้จับไพ่สับไพ่ได้ลำบาก ผมจึงได้ลองเทียบกันจะๆ (โปรดดูรูปด้านล่างประกอบ) พบว่า
  • ไพ่ชุดจุดเทียนจะหนากว่าไพ่ทาโรท์จากสำนักพิมพ์ Lo Scarabeo (สำรับ Liber-T Tarot ที่พื้นด้านหลังสีน้ำเงิน) ที่ปกติความหนาไพ่ทั้งสำรับ 78 ใบของสำนักพิมพ์นี้จะค่อนข้างบาง คือประมาณ 2.5 cm และน้ำหนักตกประมาณ 200 กรัม ซึ่งจะเห็นว่าจะต่างกันอยู่ในระดับหนึ่ง
  • แต่หากให้ลองเทียบกับสำรับไพ่ทาโรท์ของ US Games รุ่นหลังๆ (ในภาพเทียบด้วยสำรับ Sun and Moon Tarot ที่พื้นด้านหลังสีดำขาว ซึ่งหนา 2.9 cm และหนักประมาณเกือบ 220 กรัม) จะพบว่าไพ่ออราเคิลจุดเทียนสำรับนี้หนากว่าและหนักกว่าเพียงเล็กน้อยจนแทบจะไม่แตกต่างกันครับ
เทียบความหนากับสำรับจาก US Games (ดำขาว) และ Lo Scarabeo (น้ำเงินเข้ม)
ดังนั้นหากเป็นนักพยากรณ์หญิง(หรือชาย)ที่มือเล็กๆ ที่ชอบใช้ไพ่ที่ขนาดย่อมๆเล็กๆถนัดมือ หรือนักสะสมไพ่ที่ชอบไพ่เล็กๆจิ๋วๆ คงต้องลองคลิกพิจารณาจากภาพประกอบ หรือลองวัดและลองวาดขนาดสัดส่วนตามที่ระบุไว้ด้านบนมาเทียบคร่าวๆ เพื่อความชัดเจนตรงนี้อีกทีนะครับ แต่สำหรับผู้ใช้ที่มีขนาดมือใหญ่หน่อยหรือนิยมไพ่หนาแน่นปึ้ก จับแน่นๆถนัดเต็มไม้เต็มมือ ก็สบายใจตรงนี้ได้ครับ

การตัดขอบไพ่

ลักษณะขอบไพ่ทางด้านบนและด้านข้าง
เมื่อวางซ้อนกันจะเห็นได้ว่าขอบไพ่ถูกตัดเรียบเสมอเท่ากันทุกใบ ทว่าตรงขอบสันไพ่ทุกใบจะมีจุดขุยกระดาษที่เกิดจากขั้นตอนการพิมพ์ ที่เหมือนเป็นขุยรอยประจากการดึงไพ่ออกมาจากตัวขอบพิมพ์เล็กน้อยโดยรอบขอบไพ่ (โปรดคลิกที่รูปประกอบ) ทว่าเนื่องจากเป็นในตำแหน่งใกล้เคียงตรงกันทุกใบ จึงไม่ได้ถึงขั้นทำให้สะดุดต่อการใช้งานไพ่แต่อย่างใด เพราะหากเป็นขุยกระดาษขาวๆโผล่เด่นขึ้นมาแค่บางใบ คงใช้งานไม่ได้ไปเลย เช่น ในกรณีที่ต้องเลือกไพ่จากกลุ่มไพ่ที่คว่ำหน้าอยู่ .. (กรณีดังกล่าวเช่นไพ่ลอกจนเห็นขุยกระดาษขาวมักพบในไพ่ที่มีพื้นหลังสีเข้ม แม้จะเป็นสำนักพิมพ์ดังๆของต่างประเทศก็ตาม)

ผิวตรงขอบสันไพ่มีความสากๆบ้างเล็กน้อยตามความเป็นเนื้อกระดาษ แต่ก็ช่วยให้กระชับมือดี และโทนสีของขอบไพ่เป็นลักษณะเนื้อกระดาษเช่นกัน ตรงนี้ดูจะคล้ายกับสำรับไพ่ของทางสำนักพิมพ์ US Games หรือ Llewellyn รุ่นหลังๆ (เพราะ Llewellyn รุ่นก่อนๆ ขอบไพ่จะสีขาวตัดเรียบคล้ายพลาสติกครับ)

การเคลือบไพ่


ไพ่ไม่ได้เคลือบมันทั้งด้านหน้าไพ่และด้านหลังไพ่นะครับ และแม้ภาพเป็นแบบพิมพ์ด้าน (ไม่ใช่พิมพ์มันวาว) ทว่าสีสันของภาพด้านหน้าไพ่ ยังคงสดและโดดเด่นออกมาชัดเจนครับ งานพิมพ์ตรงนี้คล้ายๆสำรับไพ่แบบเคลือบด้านรุ่นหลังๆของทาง US Games (เช่น Sun and Moon Tarot ที่ยกตัวอย่างด้านบนเช่นเดียวกัน)... จุดนี้นี่คงแล้วแต่คนชอบครับ บางคนชอบเคลือบมันบางคนชอบเคลือบด้าน

ส่วนด้านหลังไพ่นั้น แม้จะพิมพ์ในลักษณะเดียวกันกับภาพด้านหน้า แต่ความรู้สึกประทับใจค่อนข้างลดลงไปซักเล็กน้อย เนื่องจากสีสันของด้านหลังไพ่จะดูคล้ายเนื้อกระดาษที่ธรรมดาไปซักนิด แม้เมื่อจับแล้วจะรู้สึกว่าไม่เป็นเช่นนั้น แต่กระนั้นด้านหลังไพ่ดังกล่าวก็ยังคงความคลาสสิคอยู่ไม่น้อยครับ โทนสีที่ดูหม่นๆนั้นอาจจะเพื่อคลุมโทนภาพให้เป็นสีน้ำเงินตามสีกรอบด้านหน้าไพ่ และรวมกับพื้นภาพสีน้ำตาลขุ่นๆเทาๆแบบเนื้อกระดาษ เพื่อไม่ให้เด่นเกินภาพด้านหน้าไพ่จนเกินไป ...ตรงจุดนี้อาจลองพิจารณาเทียบกับไพ่ออราเคิลจุดเทียนชุดพิเศษ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมชอบมากกว่าครับ (รอติดตามชมหลังจบบทความรีวิวชุดปกตินะครับ)

การสับไพ่ กรีดไพ่ และคลี่ไพ่

การคลี่ไพ่ และภาพหน้าไพ่ใต้แสงธรรมชาติ
โดยปกติหากไพ่เคลือบไม่ดีแล้ว จะส่งผลให้เกิดปัญหาไพ่ติดกันเวลาสับหรือคลี่ไพ่ เนื่องด้วยความหนืดจากสารที่เคลือบและสภาพอากาศแบบไทยๆ (มักพบบ่อยในสำรับ US Games รุ่นที่พิมพ์ในอิตาลี) แต่สำหรับในสำรับไพ่ออราเคิลจุดเทียนนี้ไม่พบปัญหาตรงนี้ ขณะเดียวกันด้วยกรรมวิธีการตัดขอบของไพ่จุดเทียน ในแบบที่มีรอยประที่เหมือนจะเป็นตำหนิเล็กๆเนี่ยล่ะครับ ทำให้ไพ่ไม่มีขอบสันนูนขึ้นมา เหมือนการตัดขอบแบบกดตัด ซึ่งมักจะพบในไพ่หลายสำรับที่ผลิตในไทย (หรือแม้แต่สำรับในต่างประเทศ เช่น Llewellyn รุ่นหลังๆอย่าง Fairy Tale ก็ยังเจอด้วย) ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาไพ่ติดกันในบางใบจากขอบสันดังกล่าว จึงนับว่าการตัดขอบแบบมีรอยประนี่กลับกลายเป็นข้อดีในแง่นี้ได้เหมือนกันครับ

โดยรวมๆ แล้วการคลี่ไพ่ การสับไพ่ และการกรีดไพ่ของสำรับไพ่ออราเคิลจุดเทียนนี้สามารถทำได้ปกติดี เพียงแต่ทั้งการสับไพ่และการกรีดไพ่จะทำได้ลำบากสำหรับคนมือเล็กครับ โดยมีรายละเอียด;
  • การคลี่ไพ่ (Fanning) ไม่ได้ถึงขั้นเรียบลื่นไหลนักนะครับ ยังคงพบการติดกันอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก หากลองสังเกตรูปที่แนบจะเห็นความสม่ำเสมอของช่องไฟแต่ละใบ ที่อาจจะมีสะดุดไปบ้างบางช่วงนะครับ (ลองเทียบกับสำรับไพ่ออราเคิลจุดเทียนชุดพิเศษช่วงท้ายรีวิว จะเห็นความต่างกันอีกนิดนึงครับ)
  • การสับไพ่ไม่ได้หนืดติดอะไรกัน แต่ยังขาดความพลิ้วในขณะสับไพ่ไปซักเล็กน้อย ถึงกระนั้นเนื่องด้วยว่าตรงสันขอบไพ่มีลักษณะสากๆแบบเนื้อกระดาษจึงช่วยให้กระชับมือดีครับ
  • การกรีดไพ่ (Riffle-Shuffle) สามารถทำได้ดีเช่นกัน แม้สำรับไพ่จะมีขนาดใหญ่และหนา แต่ตัวไพ่ก็ไม่ได้แข็งจนถึงขั้นงอไม่ได้ ไพ่ยังคงมีความสปริงตัวยืดหยุ่นดี ดัดงอได้ครับ
ภาพคลี่ไพ่อีกหนึ่งมุมมอง
หมายเหตุ: ด้านความลื่นความฝืดความมันความด้านของสำรับไพ่นี่ คงแล้วแต่ความชอบของแต่ละท่านนะครับ ส่วนความชอบส่วนตัวของเจ้าของบล็อกคือ ในแบบสำรับไพ่รุ่นเก่าของสำนักพิมพ์ Llewellyn ที่จะมันวาวแต่ออกลื่นๆ เนื้อไพ่จะดูแข็งคล้ายพลาสติกแต่ยืดหยุ่นดี เช่น Revelations และ Robin Wood หรืออาจจะสำรับของทางสำนักพิมพ์ AGMuller ที่จะมันด้านแต่ลื่นๆเช่นกัน แม้ว่าเนื้อไพ่จะดูบางกว่า เช่น Tarot Roots of Asia หรือ I-Ching Holitzka เป็นต้น

สรุปคุณลักษณะภายนอกไพ่จุดเทียน

จุดนี้ถือว่าทำได้ดีกว่าสำรับไพ่พยากรณ์อื่นๆหลายๆสำรับที่ผลิตในประเทศไทย แต่ตรงนี้ต้องบอกก่อนว่า ไม่รู้ว่าเทคโนโลยีการพิมพ์สำรับในไทยล่าสุดจะเป็นอย่างไร เพราะไพ่ที่ผลิตในไทยนั้น ผมเคยใช้มาแต่ (1)ไพ่ไรเดอร์เวทที่แถมมากับหนังสืออาจารย์ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา (2)ชุดแมว Cat People แถมกับหนังสืออาจารย์สังคม ฮอหรินทร์ และ(3)ไพ่ทาโรต์ไทยชุดทองของอาจารย์พัชรวัฒน์ ตั้งฑัตสวัสดิ์น่ะครับ .. ทว่าเคยได้ยินมาว่าคุณภาพของไพ่สยามทาโรต์ของอาจารย์สุกิจ ภักดีดินแดนนั้นค่อนข้างดี แต่ไม่รู้จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร รวมทั้งยังไม่มีไพ่ออราเคิลพรหมญาณ จึงไม่สามารถเปรียบเทียบเป็นมาตรฐานหรือยืนยันตรงจุดนี้ได้ชัดเจนเช่นกันครับ

ทว่าหากเทียบกับสำรับอื่นๆที่พิมพ์ในต่างประเทศ ถือว่าทำได้ดีในระดับดีพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่แม้สำรับไพ่(โดยเฉพาะไพ่ออราเคิล)ที่ผลิตในต่างประเทศ หากไม่ได้มาจากสำนักพิมพ์หลักๆดังๆ อาจพบไพ่ที่มีคุณภาพกระดาษไพ่ที่ด้อยกว่านี้ก็มีครับ ...ดังนั้น หากไม่นับตรงขอบไพ่ที่เป็นรอยกระดาษสะดุดเล็กๆแล้ว ถือว่าคุณภาพตัวสำรับไพ่และการใช้งานของไพ่ออราเคิลจุดเทียนโดยรวม พอจะสูสีพอฟัดพอเหวี่ยงกับมาตรฐานสำรับจากค่ายดังๆอย่าง US Games โดยเฉพาะในรุ่นหลังๆ ที่พิมพ์ในจีนในแบบที่ไม่เคลือบมันหนาๆได้เลย... แต่อย่างไรคงไม่ถึงในระดับดีเทียบเท่ากับสำนักพิมพ์พวก Lo Scarabeo, Llewellyn หรือ AGMuller นะครับ

รีวิวสำรับไพ่ออราเคิลจุดเทียนนี้ยังไม่จบนะครับ เดี๋ยวเรามาต่อกันในส่วนของรายละเอียดภาพหน้าไพ่ มาชมสีสันและสัญลักษณ์ภายในภาพหน้าไพ่กันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการใช้งานทำนายและพยากรณ์ของสำรับไพ่ออราเคิลจุดเทียนชุดนี้กันนะครับ


เพิ่มเติม
อ่านบทความรีวิวช่วงแรก ==> เปิดกล่องไพ่ออราเคิลจุดเทียน โดยสมบูรณ์สุข ๑/๓
อ่านบทความรีวิวช่วงที่สาม ==> พยากรณ์ด้วยไพ่ออราเคิลจุดเทียน โดยสมบูรณ์สุข ๓/๓
อ่านบทความรีวิวชุดพิเศษ ==> ไพ่ออราเคิลจุดเทียน ชุดพิเศษ

0 ความเห็น:

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น