16 กุมภาพันธ์ 2554

บทสรุปไพ่ทาโรต์ชาโดว์สเคปส์ (Shadowscapes Tarot: Review - Part Four)

มาถึงช่วงเกือบสุดท้ายของบทความรีวิวไพ่ทาโรต์ชาโดว์สเคปส์กันแล้วนะครับ ส่วนนี้จะเกี่ยวกับการใช้งานไพ่โดยรวมและบทสรุปของชุดสำรับไพ่ทาโรต์พร้อมคู่มือ Shadowscapes Tarot นะครับ.. สำหรับท่านที่พลาดชมบทความรีวิวในช่วงแรกทั้งสามตอน สามารถคลิกชมได้ตามหัวข้อด้านล่างนี้ได้เลยครับ


การใช้งานไพ่ทาโรต์ Shadowscapes Tarot

สีสันภาพขณะใช้งาน (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)
เนื่องด้วยโทนสีของไพ่ แยกไปตามสีของแต่ละชุด ทำให้การใช้งานในส่วนนี้ทำได้ง่ายขึ้นมาก ยกตัวอย่าง ลองสังเกตภาพด้านล่างนี้ แค่มองผ่านๆเพียงแว้บเดียว จะสังเกตเห็นเลยว่ามีโทนสีฟ้า(ซึ่งเป็นไพ่ชุดถ้วย)คลุมพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ และแต่ละใบอยู่ตรงตำแหน่งไหนอย่างไรบ้าง (ส่วนวิธีอ่านการวางไพ่ตามรูปที่แนบนี้ ที่เป็นแบบเดียวกันกับ Gravatar ของเว็บบล็อกเราขณะนี้ ...หากมีโอกาสคงจะได้นำมาให้ชมกันครับ ^_^)

ส่วนแนวทางการอ่านไพ่ หากจะใช้ความหมายแบบไรเดอร์เวทก็สามารถทำได้ตามปกติเลยครับ ไม่มีสะดุดหรือโดดออกไป เพราะตามที่กล่าวไว้ในบทความก่อนๆแล้วว่า ไพ่ทาโรต์ชาโดว์สเคปส์นั้นได้รับออกแบบมาให้อิงความหมายตามไพ่ทาโรต์ไรเดอร์เวทอยู่แล้วครับ... แต่หากจะให้ดีลองอ่านและแปลความหมาย จากอารมณ์บนหน้าไพ่ อันรวมถึงการรับรู้ผ่านทางโทนสีภาพ จากสัญลักษณ์ ท่าทางของสัตว์บุคคล ตลอดจนเหตุการณ์ในภาพที่เข้ามาในขณะอ่านหน้าไพ่นั้นๆ ยิ่งภาพสวยๆชวนฝันแบบนี้ด้วย อาจยิ่งช่วยให้สามารถปลดปล่อยอารมณ์ตามภาพไปได้ง่ายๆด้วยเช่นกัน



โดยส่วนตัวแล้วความรู้สึกที่ได้ก็อารมณ์หวานๆเบาๆชวนฝันตามหน้าไพ่ ทว่าเข้าเป้าและตรงประเด็น แถมรายละเอียดของภาพหน้าไพ่ต่างๆ ที่ดูหยุมหยิมเล็กๆเหล่านั้น แม้จะถือเป็นข้อด้อยของไพ่แต่อาจมองกลับเป็นข้อดีได้เหมือนกัน เพราะทำให้การอ่านไพ่แต่ละครั้งได้มุมมองที่แตกต่างกันไป และผสานกับเรื่องราวขณะนั้นได้อย่างกลมกลืนครับ ;) (หมายเหตุ: หรือจะลองดูตัวอย่างการอ่านไพ่ชุดนี้แบบง่ายๆ ได้ที่ตัวอย่างการอ่านไพ่ทาโรต์ชาโดว์สเคปส์จากการใช้รูปแบบการวางไพ่เพื่อสัมภาษณ์ไพ่)


ความหมายสัญลักษณ์จากหน้าไพ่ทาโรต์ Shadowscapes

(หมายเหตุ: ช่วงก่อนเกิดปัญหาเว็บบล็อกล่มเล็กน้อย รวมทั้งบทความก่อนเนื้อหาส่วนนี้รู้สึกว่าสั้นไปนิ๊ด ไม่ค่อยจุใจ.. เลยขออนุญาตปรับปรุงใหม่และแยกนำมาโพสท์อีกครั้งนะครับ)

เนื่องจากรายละเอียดที่หยุมหยิมจนแทบจะยุ่งเหยิงบนหน้าไพ่ ทำให้หากไม่ได้อ่านหนังสือคู่มือด้วย รายละเอียดบางอย่างบนหน้าไพ่หลายๆใบเราอาจจะมองข้ามไปเลยก็ได้ครับ ดังนั้นหนังสือคู่มือไพ่ทาโรต์ Shadowscapes Companionที่เราได้รีวิวไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ จึงมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากกว่าคู่มือของไพ่สำรับอื่นๆ (ที่บางท่านแทบจะไม่ค่อยสนใจกัน เพราะสามารถอ่านจากภาพได้อยู่แล้ว) ซึ่งจากรีวิวดังกล่าว คงได้เห็นกันแล้วว่าการจัดรูปเล่มยังน่าอ่านกว่าคู่มืออื่นอีกหลายเล่มด้วยครับ.. ยิ่งเมื่ออ่านคู่มือประกอบด้วยแล้ว เห็นมุมมองของศิลปินมากขึ้น รู้ที่มาที่ไปต้นกำเนิดแนวคิดของสัญลักษณ์ต่างๆที่สอดแทรกมาบนหน้าไพ่นั้นๆได้มากขึ้น ยิ่งจะช่วยให้แปลความหมายไพ่และการอ่านไพ่ทาโรต์ดังกล่าวทำได้ดียิ่งขึ้นครับ

ยกตัวอย่าง
ตัวอย่างสีสันและสัญลักษณ์ไพ่
  • Strength ตามรูปข้างล่าง นอกเหนือจากภาพหญิงสาวและสิงโต ที่เราคุ้นเคยกัน คุณ Stephanie ยังสอดแทรกประเด็นความหมาย ในมุมมองเรื่องความแข็งแกร่งที่ต่างกัน คือ เมล็ดต้นโอ๊ค ที่พร้อมจะดันเปลือกแข็ง เติบโตเป็นไม้ยืนต้นแข็งแรง เปรียบเทียบกับ ต้นไผ่ ที่แข็งแรง เหนียวทนทาน ยืดหยุ่นรับแรงกดดันได้โดยไม่แตกหัก
  • ศิลปินยังสอดแทรกความหมายจากหลากวัฒนธรรมด้วย เช่น ใน Temperance ที่ผสมผสานความต่างอย่างลงตัว หากสังเกตกลุ่มหมอก(?) ก่อนที่จะรวมตัวกันเป็นสัญลักษณ์หยินและหยางทางด้านล่างนั้น จะเห็นสัญลักษณ์สัตว์มงคลของชาวจีน คือ มังกร(สีโทนฟ้า) และหงส์(สีโทนส้ม) แถมโทนสีฟ้าและสีส้มนั้นก็เป็นสีตรงกันข้ามตามหลักการผสมสีอยู่แล้วนะครับ เป็นต้น
  • ส่วนรูปหน้าไพ่ 6 ถ้วยสีสันสดใส ตัดกันไปมาได้อารมณ์หกถ้วยมากครับ ได้ทานชาอุ่นๆอบอุ่นในยามเหน็บหนาวกับคนรู้ใจดีครับ ^_^ ส่วนรูปหน้าไพ่ 8 เหรียญ ความกระตือรือร้นแบบเขียวมรกต โดดเด่นและเขียวสว่างเปล่งประกายกว่าเฉิดฉายยิ่งกว่าความเขียวสดของไพ่ใบอื่นๆในชุดเหรียญเหมือนกันครับ

เปรียบเทียบสีสันไพ่เพิ่มเติมอีกนิดครับ ด้วยการยกตัวอย่างสัญลักษณ์สัตว์อย่างละหนึ่งใบจากไพ่ทาโรต์แต่ละชุดในสำรับชาโดว์สเคปส์นี้
สัญลักษณ์ในหน้าไพ่ Minor
  • กิเลนเริงระบำในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งในหนังสือจะกล่าวไว้ถึงความเป็นม้ายูนิคอร์นตะวันออก Unicorn ในสี่ไม้เท้า ได้อารมณ์ดูสงบอบอุ่นกับแสงแดดอ่อนๆดีครับ
  • นกบินทะลุผ้าสีแดงในสิบดาบ ก็ได้อารมณ์ตามไรเดอร์เวทที่ไม่เห็นหยดเลือดก็จริง แต่ก็เป็นสภาพที่น่าเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย ~~>_<
  • กิ้งก่าหยินหยาง ที่นอนขดขมวดอยู่ตรงโขดหินในหน้าไพ่สองเหรียญก็สวยดีเช่นกัน สื่อได้ทั้งการปรับเปลี่ยนอารมณ์พฤติกรรมกับสภาพแวดล้อมเหมือนกิ้งก่าที่เปลี่ยนสีได้ ด้วยความสมดุลย์แบบหยินหยาง
  • ปลาว่ายอยู่เหนือผิวน้ำในอ่าง ในห้าถ้วยก็แปลกดีเช่นกันครับ ซึ่งภาพหน้าไพ่ไม่ใช่เป็นแค่รูปท่าทางของคนที่ก้มมองถ้วยที่ล้มไปแล้วโดยหันหลังให้ถ้วยที่ตั้งอยู่แบบที่เห็นเดิมๆตามหน้าไพ่ไรเดอร์เวททั่วไป แต่คุณ Stephanie ได้ถ่ายทอดอารมณ์ ความหมาย มุมมองและแนวคิดของไพ่ห้าถ้วยนั้นในอีกลักษณะหนึ่ง ที่อาจมองในอีกมุมหนึ่งได้ด้วยว่าตกลงอ่างปลาดังกล่าวนั้น น้ำพร่องลงไปครึ่งอ่าง หรือมีน้ำอยู่ครึ่งอ่างกันแน่ (แต่ศิลปินอาจมีมุมมองอื่นเพิ่มเติมทว่าไม่ได้ระบุไว้ หรือบางท่านอ่านภาพหน้าไพ่นี้แล้ว จะมีมุมมองอื่นต่างไป ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใดนะครับ ^_^)
ยกตัวอย่างพอหอมปากหอมคอกันนะครับ สำรับไพ่ทาโรต์ชาโดว์สเคปส์ชุดนี้ยังมีอะไรแฝงเร้น และเนื้อหาส่วนอื่นๆที่น่าติดตามอีกมากครับ ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาพสัญลักษณ์นี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสีสัน ท่าทาง เหตุการณ์ที่สามารถนำมาเรียงร้อยกันได้เป็นอย่างดี


บทสรุปชุดคู่มือพร้อมสำรับไพ่ Shadowscapes Tarot

(ตามความเห็นส่วนตัว เป็นเพียงแนวทางช่วยตัดสินใจ แต่โปรดอย่าถือเป็นข้อตัดสินชี้ขาดนะครับ ^_^)

ข้อดี
  • ภาพสวย สีสันสดใส แยกโทนสีตามชุดไพ่ ยิ่งสีของสัญลักษณ์บางอันในหน้าไพ่ จะโดดเด่นแยกให้เห็นจากองค์ประกอบอื่นได้ชัดเจน
  • รวมสัญลักษณ์จากหลากวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน และไม่อิงตามศาสนาใดศาสนาหนึ่งจนเกินไป
  • ภาพด้านหลังไพ่ ออกแบบได้ดี กลมกลืนกับไพ่ กลับหัวบนล่างได้
  • การเคลือบไพ่กำลังพอดี ทำให้การคลี่ไพ่ทำได้ง่าย ไพ่ไม่ติดกัน
  • ขนาดสำรับไพ่กำลังพอดีมือ เหมาะสำหรับการใช้งาน ตามมาตรฐานสัดส่วนขนาดไพ่ทาโรท์ปกติ
  • หนังสือคู่มืออ่านสนุก เนื้อหาของผู้แต่งทั้งสองคนแยกกันชัดเจน การจัดวางรูปเล่ม ดูดี ไม่รกตา ไม่เป็นแต่ตัวหนังสือเบียดๆๆกัน ในส่วนของพื้นฐานไพ่ทาโรท์ในช่วงแรกของคู่มือก็อ่านเข้าใจง่าย (ภาษาง่ายด้วย) ส่วนในช่วงหลังในส่วนของความหมายไพ่แต่ละใบ นอกจากได้มุมมองศิลปินแล้ว ยังอ่านแล้วชวนฝันดีครับ ในส่วนรูปแบบการเรียงไพ่ ก็ให้มาเยอะหลากหลายดีครับ

ข้อติ
    กล่องสำรับไพ่ดัดแปลงจากกล่องด้านนอก
    ที่มาภาพ: เว็บบล็อกคุณกมลพันธ์
  • กล่องบรรจุภัณฑ์ แม้จะสวย แต่บางมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมาตรฐานของสำนักพิมพ์ Llewellyn (หมายเหตุ: สำหรับผู้ชื่นชอบงานฝีมือประเภทตัดปะหรือเย็บปักถักร้อย ขอแนะนำเว็บบล็อกคุณกมลพันธ์ครับ มีตัวอย่างวิธีการและขั้นตอนการนำกล่องด้านนอกของไพ่ทาโรต์ชาโดว์สเคปส์ชุดนี้ มาปรับใช้งานเป็นกล่องใส่ตัวสำรับไพ่กันครับ)
  • ไม่มีของแถมอย่างอื่น แม้แต่ถุงแก้วบางๆที่เคยแถมมาปกติตามมาตรฐาน Llewellyn ก็ไม่มีเช่นกันครับ
  • แม้ส่วนของความหมายไพ่ ที่เรียบเรียงโดยคุณ Stephanie จะอ่านสนุก แต่คำศัพท์ที่ใช้ในส่วนนี้จะยากพอควร .. ต้องมี Dictionary อยู่ข้างๆครับ -_-" รวมทั้งความหมายของสัญลักษณ์บางอย่าง ไม่ได้แสดงออกมาให้ครบทั้งหมดจริงๆ ผู้ใช้งานเริ่มต้นอาจต้องมีพื้นฐานความรู้ไพ่ทาโรท์ในส่วนนี้มาบ้าง
  • แม้ขนาดไพ่จะพอดีกับการจับและสับไพ่.. แต่ด้วยองค์ประกอบภาพที่มีรายละเอียดและสวยงามมาก ส่วนตัวอยากให้ไพ่ใหญ่กว่านี้อีกซักนิ้วสองนิ้ว :P จะได้อิ่มเอมเปรมปรีดิ์กับความงามบนหน้าไพ่ได้เต็มที่

ส่วนความงามศิลปะบนหน้าไพ่ กับการใช้งานและความเหมาะสมของเพศและวัย คงต้องแล้วแต่แต่ละท่านครับ เพราะบางคนอาจจะรู้สึกว่าหญิงๆไปหน่อย (แต่ผมเองก็ใช้งานได้ไม่มีปัญหานะครับ ^_^) แต่ที่แน่ๆ ไพ่สำรับนี้เวลาใช้ทำนายจริงก็ไม่ได้ชวนฝันจนถึงขั้นแค่แตะๆปัญหาแบบเบาๆเฉี่ยวๆเฉียดๆนะครับ ฟาดตรงเจาะเข้าประเด็นกันไปเลยเหมือนกัน เพียงแต่การบรรยายสถานการณ์จะรอมชอมมากกว่าบางสำรับครับ ยิ่งความสวยงามของหน้าไพ่ด้วยแล้ว จึงยิ่งเหมาะสำหรับผู้ที่กลัวๆเกร็งๆกับไพ่ทาโรต์เข้าไปใหญ่ครับ


หมายเหตุเกี่ยวกับขนาดไพ่ทาโรต์ Shadowscapes

เท่าที่เคยรับทราบมาในเรื่องความเป็นมาของขนาดตัวสำรับไพ่นั้น คุณ Stephanie ได้อธิบายชี้แจงในเว็บบอร์ด aeclectic (และหากจำไม่ผิดรู้สึกจะในเว็บบล็อกด้วย)ไว้ว่า ขั้นแรกเคยมีความประสงค์ที่จะพิมพ์เองเช่นกัน เพื่อจะได้ควบคุมมาตรฐานอะไรได้มากกว่า ทั้งในเรื่องของขนาดหรือคุณลักษณะต่างๆของตัวสำรับไพ่ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้านทั้งในเรื่องพื้นที่ของตัวบ้าน(หากจะต้องมีสำรับเป็นร้อยๆพันๆวางกองอยู่) ความยุ่งยากในการจัดการ ทั้งด้านการลงทุน การพิมพ์ การวางจำหน่าย การโฆษณา ฯลฯ โดยเฉพาะขณะนั้นคุณ Stephanie กำลังตั้งครรภ์อยู่ด้วย ซึ่งคงจะยิ่งยุ่งยากหรืออาจเครียดมากขึ้นไปอีก(ที่น่าจะไม่เป็นผลดีต่อเด็กเป็นแน่) กว่าที่สำรับดังกล่าวจะสามารถวางจำหน่ายเผยแพร่กันออกไปได้

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขของสำนักพิมพ์ต่างๆ ขณะนั้น ก็รู้สึกลงตัวกับทาง Llewellyn มากที่สุด (แม้ว่าจะไม่สามารถผลิตออกมาในขนาดใหญ่กว่าปกติได้เนื่องจากเป็นมาตรฐานของทางสำนักพิมพ์ก็ตาม) สุดท้ายจึงออกมาเป็นสำรับไพ่ทาโรต์ Shadowscapes Tarot ตามที่เราๆท่านๆเห็นกันนั่นล่ะครับ .. ซึ่งจุดนี้ก็สามารถมองในแง่การแบ่งกลุ่มตลาดออกไปได้อีกด้วย คือผู้ที่ชอบไพ่ทาโรต์ก็สามารถใช้ไพ่ตามขนาดมาตรฐานทั่วไป ส่วนผู้ที่ชอบภาพผลงานก็อาจติดตามจากหนังสือภาพหน้าไพ่แทน(รายละเอียดในบทความถัดไป)

จบบทสรุปการรีวิวไพ่ทาโรต์ Shadowscapes Tarot กันไปแล้วนะครับ .. เดี๋ยวบทความช่วงสุดท้าย ต่อกันไปอีกนิดเป็นของแถมในส่วนของเกร็ดรายละเอียดเพิ่มเติมของสำรับไพ่ทาโรต์ชาโดว์สเคปส์ชุดนี้กันครับ

3 ความเห็น:

Peterito กล่าวว่า...

ติดตามอ่านจนจบ สวัสดีครับคุณ HE ผมก็กำลังเอาหนังสือมาอ่านตามที่คุณ HE แนะนำแล้วละครับ แต่กำลังติดเรื่องภาษาเลยครับ ตอนนี้กำลังอ่านเรื่องการเรียกไพ่แบบที่สาม
Is love in the Stars?

ดูศัพท์ไม่ยากนะครับ แต่ยากจะแปลครับ รบกวนคุณ HE ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจสั้นๆก็ได้ครับ อิอิ

ขอบคุณครับ

ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ กล่าวว่า...

เท่าที่พอคุ้นๆนะครับ (เพราะยังไม่เคยลองใช้เลย ปกติหากจะดูสำหรับคนมองหาคู่จะใช้การวางไพ่แบบอื่นน่ะครับ :P) รู้สึกรูปแบบการวางไพ่แบบนี้ จะเหมาะสำหรับคนที่ยังไม่มีคู่และกำลังมองหาคู่อยู่ครับ ถ้ามีคู่อยู่แล้วหรือกำลังเล็งๆใครอยู่ ใช้วิธีการวางไพ่แบบอื่นน่าจะเหมาะกว่า

ตำแหน่งหนึ่งและสองจะเป็นดูความพร้อมและความไม่พร้อมที่จะเปิดรับรักครับ สามกับสี่ก็สิ่งที่ควรทำกับไม่ควรทำหากอยากจะเปิดรับรัก ส่วนสุดท้ายก็สรุปปกติครับ ที่เหลือก็อ่านไพ่แต่ละใบโยงกันไปมาตามที่สัมผัสได้ครับ


ปล.
เดี๋ยวไว้อีกซักพัก (รอเว้นช่วงรีวิวทาโรต์ชาโดว์สเคปส์นี้ไปอีกซักหน่อย) ...กะไว้เหมือนกันครับว่า จะนำเสนอรูปแบบการวางไพ่จากคู่มือเล่มนี้ซักแบบนึง พร้อมใช้ไพ่ทาโรท์ Shadowscapes Tarot ไปด้วย (แต่คงไม่ใช่รูปแบบการเรียงไพ่ตามที่ถามนะครับ ^_^) ซึ่งเนื้อหาการแปลไพ่และอ่านไพ่น่าจะละเอียดไม่น้อยกว่า ตอนการวางไพ่แบบสัมภาษณ์ไพ่นั่นล่ะครับ http://natachpong.blogspot.com/2010/10/new-deck-interview-spread.html

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

และแล้วก็ได้เค้ามาครอบครองจนได้ครับ ทนความงามเค้าไม่ไหว ยอมรับเลยครับว่าชุดนี้สวยถูกใจ ทั้งรูปภาพและสีสันหน้าไพ่ คุณภาพก็จัดได้ว่าโอเคเลย ถูกใจมากๆ (ไม่เหมือนชุด Llewellyn ภาพสวยแต่สีจืดไปหน่อยนึง)และโดยส่วนตัว กับชุดนี้ ค่อนข้างสื่อสารกันได้ดีครับ ตีความได้ไม่ยาก ถามตอบได้ตรงประเด็นค่อนข้างดีครับ (โชคดีที่จูนกันติดน่ะครับ) แต่กล่องเค้านี่่เยินง่ายจริงๆครับอันนี้ต้องทำใจ Y__Y
จาก Akakung Sin

แสดงความคิดเห็น

1. โปรดระบุ "ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น" (กรณีไม่มีโปรไฟล์อื่น) ในเว็บ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยการ
- เลือกโปรไฟล์ "ชื่อ/URL"
- กรอกชื่อหรือนามแฝงของผู้โพสต์ในช่อง "ชื่อ"
- กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ระบุ URL เว็บไซต์ใดๆ
- ทั้งนี้เพียงเพื่อความสะดวกในการสนทนาเท่านั้น เช่น อาจระบุ นาย A, นาย B หรือ น.ส. ยิปซี ก็ได้ครับ :)
2. หากติดระบบกรองคำ โปรดกรอกข้อความ ให้ตรงตามคำกรองที่ปรากฏ
3. ความเห็นอาจไม่แสดงทันที เนื่องจากระบบป้องกันสแปมอัตโนมัติของบล็อกสปอต

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น